วันอังคารที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2558

โปรแกรมเมอร์ โปรแกรมเห็ด

     สวัสดีครับวันนี้เรามีบทสัมภาษณ์จาก
"ฟาร์มฟ้าใส" มาฝากครับ ฟาร์มเห็ดแห่งนี้เจ้าของสามารถควบคุมการผลิตเห็ด รวมถึงควบคุมเรื่องตลาดได้อย่างง่ายดาย ทั้งยังมีวิถีชีวิตที่พอเพียง สามารถทำเห็ดได้อย่างสบายกาย และสบายใจอีกด้วย  ไปดูกันเลยดีกว่าครับว่าเขามีวิธีการ และแนวคิดยังไงในการทำฟาร์มเห็ด

HugHed : ทำไมพี่นนท์ถึงมีความคิดที่จะทำฟาร์มเห็ดครับ
พี่นนท์ : ตอนแรกพี่ไม่ได้สนใจเรื่องการเกษตรมาก่อนเลย  พี่เป็นคนชอบปลูกต้นไม้มาตั้งแต่เด็ก และไม่ได้มีความสนใจอาชีพที่เกี่ยวกับการเกษตรเลย แต่พี่สนใจวิถีชีวิตพอเพียงมากกว่า เมื่อก่อนพี่ทำงานประจำ แล้วอยากจะออกมาจากชีวิตสังคมแบบทุนนิยม ไม่อยากอยู่ด้วยกับคนที่ ซื้อรถใหม่ทุกวัน ซื้อนาฬิกาใหม่มาอวด ซื้อเสื้อใหม่มาโชว์ เงินเดือนก็ไม่กี่บาท หมื่นต้นๆ ต้องมา ซื้อรถใหม่ผ่อนเดือนละ 7-8 พันบาท ซึ่งพี่ไม่อยากมีวิถีชีวิตแบบนั้น พี่เลยมีความคิดอยากที่จะทำการเกษตร ในตอนแรกทำเห็ดอย่างเดียว แต่ตอนนี้ก็ไม่ได้ทำเกษตรอย่างเดียว พี่ทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์ด้วย รับงานมาทำเอง ไม่ได้เป็นลูกจ้างใคร
เห็ดนางรมฮังการี
    ตอนแรกทำแต่ฟาร์มเห็ดอย่างเดียวเลย ตั้งใจมาก ทำเองทุกอย่าง ซึ่งงานในการทำฟาร์มเห็ดค่อนข้างเหนื่อย บวกกับในช่วงแรกเจอปัญหาในการทำฟาร์มเห็ดมากมาย ยกตัวอย่างเช่น พี่ทำก้อนเห็ดทีละหนึ่งพันก้อน แล้วเกิดก้อนเสียเป็นจำนวนมาก ทำให้พี่ค่อนข้างท้อ เลยปรึกษากับแฟนว่าจะลดจำนวนก้อนที่จะทำเหลือครึ่งเดียว โดยจะทำก้อนอาทิตย์ละครั้ง ตั้งเป้าหมายให้ได้เห็ดโดยเฉลี่ยต่อวันประมาณ 10 กิโลกรัม ซึ่งพอพี่ลดงานในการทำลง มันก็ทำให้เราเหนื่อยน้อยลง ทำงานได้ง่ายขึ้น แล้วผลผลิตเห็ดที่ได้ก็พอดีกับความต้องการของตลาดของพี่เอง

HugHed : พี่นนท์ทำฟาร์มเห็ดมากี่ปีแล้วครับ
พี่นนท์ : ประมาณ 3 ปีกว่าแล้วครับ การทำฟาร์มเห็ด ต้องใช้เวลาในการทำสามปี ฟาร์มถึงจะเริ่มอยู่ตัว คือ ในปีแรก เป็นปีของการเรียนรู้ที่จะเจอปัญหาในแต่ละฤดูกาล ปีที่สอง เป็นปีของการเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาจากปีแรก ปีที่สามเป็นปีที่เราสามารถรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้แล้ว แต่ถ้าจะเอาแบบชัวร์ตลอดชีวิต ต้องใช้เวลาประมาณ 5 ปี กระบวนการในการทำฟาร์มเห็ดจะลงตัวมากที่สุด ในช่วงแรกของการทำฟาร์ม เราลงทุนไป 100 ได้กลับมา 100 ก็ถือว่าดีแล้ว แต่ตอนนี้ พี่ลงทุนไป 100 ได้กลับมา 500 ก็ถือว่าคุ้มกับที่ลงทุนไป

HugHed : ในช่วงเริ่มแรก พี่นนท์ทำฟาร์มเห็ดอะไรครับ
พี่นนท์ : เริ่มแรกพี่ทำเห็ดนางรมฮังการี พี่ทดลองทำเห็ดมาทุกอย่างแล้ว เช่น เห็ดโคนญี่ปุ่น เป๋าฮื้อ นางฟ้าภูฐาน เห็ดขอน แต่สุดท้ายตลาดแถวนี้เขานิยมเห็ดนางรมฮังการีมากที่สุด เราก็เลยไม่ทำเห็ดอื่น ถ้าพูดถึงความอร่อยแล้ว พี่ว่าเป๋าฮื้อกับนางฟ้าภูฐานอร่อยกว่า แต่คนแถวนี้เขาไม่นิยมทานกัน

HugHed :  ตอนนี้พี่นนท์มีโรงเพาะเห็ดกี่โรงครับ
พี่นนท์ : ตอนนี้พี่มี 3 โรง ได้ผลผลิตเห็ดนางรมฮังการีเฉลี่ยประมาณ 10 กิโลกรัมต่อวัน

HugHed : แบบโรงเรือนพี่นนท์ใช้วัสดุอะไรทำครับ
พี่นนท์ : แบบโรงเรือนที่ทำคิดว่าแบบนี้ดีที่สุดนะ พี่เอาแนวคิดมาจากคนอื่นอีกที จริงๆหญ้าคาดีที่สุด แต่มันพังง่าย วิธีรักษาก็คือ ข้างบนเราต้องมีพลาสติกกันรังสียูวี คลุมหญ้าคาอีกที ข้างบนพลาสติกเราก็ใช้สแลนคลุม กันความร้อนลงมาอีกที แต่ว่าต้นทุนแพงหน่อย แต่พี่ว่ามันคุ้มกว่า โครงสร้างตอนนี้ใช้ไม้ไผ่ แต่ไม่ค่อยทน กำลังคิดว่าอาจจะเปลี่ยนเป็นไม้ยูคา หรือโรงสร้างเหล็กจะได้ทนกว่า

หม้อนึ่งแรงดันสำหรับนึ่งฆ่าเชื้อในการทำเชื้อเห็ด
HugHed : ตั้งแต่พี่นนท์ทำฟาร์มเห็ดมา ได้เปลี่ยนหลังคาที่ทำจากหญ้าคามาแล้วกี่รอบครับ
พี่นนท์ : ตั้งแต่ทำฟาร์มเห็ดมาสามปี ได้เปลี่ยนหลังคามาแล้ว 1 รอบ แต่หลังจากพี่หาพลาสติกใสที่กันรังสียูวีมาคลุมทับหลังคาอีกที ทำให้หลังคาที่ทำจากหญ้าคาของพี่ใช้งานได้นานขึ้น

HugHed : พี่นนท์มีวิธีการในการเพาะเชื้อเห็ดอย่างไรครับ
พี่นนท์ : ตัดดอกเห็ดสด มาลงอาหารวุ้น จากวุ้นต่อได้อีกประมาณ 3-4 ครั้งครับ จากดอกมาลงวุ้นมันใช้เวลาปรับสภาพให้ชินกับอาหารพอสมควร แต่ถ้าเราตัดจากวุ้นไปเดินที่วุ้นเชื้อมันเดินเร็วกว่า มันเลยมีปัญหาที่ว่าฟาร์มใหญ่ๆเราไม่รู้ว่าเขาตัดวุ้นลงวุ้น มากี่ครั้ง ยิ่งนานไปมันจะเริ่มชินอาหารที่เป็นวุ้นมากขึ้น จนไม่กินอาหารอื่น เชื้อเลยอ่อนแอ ถ้าเราตัดวุ้นลงเม็ดข้าวฟ่าง เพื่อฝึกให้มันกินอาหารเริ่มหยาบขึ้น แล้วเราค่อยเอาลงขี้เลื่อย เพราะขี้เลื่อยเป็นอาหารหยาบที่สุด  ที่จริงเราจะเอาวุ้นลงขี้เลื่อยเลยก็ได้ แต่มันจะใช้เวลาปรับตัวนานกว่า เราค่อยๆให้มันปรับตัวในการกินอาหาร เชื้อในก้อนมันจะเดินเร็วกว่า 

HugHed : ระหว่างการใช้เชื้อเห็ดจากเมล็ดข้าวฟ่างกับเชื้อเห็ดเหลว ต่างกันไหมครับ
พี่นนท์ : ต่างกันที่ความเร็วในการเดินเชื้อ โดยที่ใช้สูตรอาหารเหมือนกัน เพราะว่าการใช้เชื้อเหลว ทำให้มีหน้าสัมผัสของเชื้อกับตัวขี้เลื่อยมากกว่าเชื้อแบบข้าวฟ่าง ทำให้การเดินของเชื้อแบบใช้เชื้อเหลว เดินได้เร็วกว่า

HugHed : ทำไมต้องใช้กระดาษปิดบนก้อนที่เขี่ยเชื้อแล้ว ใช้จุกพลาสติกปิดได้ไหมครับพี่
พี่นนท์ : พี่เคยลองใช้พลาสติกปิด ระหว่างจุกกับคอขวดมันมีช่องว่างเล็กๆอยู่ ตัวแมลงหวี่มุดเข้าไปได้ ไปวางไข่ตอนเชื้อยังไม่เต็ม เลยใช้กระดาษแล้วยางรัดแทน  แมลงมันเข้าไม่ได้ เมื่อก่อนทำก้อนเสร็จเอาไปนึ่ง เขี่ยเชื้อ ใช้กระดาษอันเดิม มันเปื่อย  มันมีช่องนิดเดียวแมลงเข้าไปหมดเลย ตอนนี้ตอนนึ่งใช้จุกพลาสติก เขี่ยเชื้อเสร็จใช้กระดาษโอบตรงคอขวดพอดีแล้วใช้ยางรัด  ต้องปิดให้สนิท เวลาใส่ข้าวฟ่าง เราต้องเขย่าให้ลงไปที่บ่าถุงให้หมด เชื้อจะเดินทั่วก้อนได้เร็วขึ้น

จุกพลาสติกใช้ปิดตอนนึ่งก้อน
HugHed : สูตรอาหารเห็ดของพี่นนท์ใช้อะไรบ้างครับ
พี่นนท์ : ใช้รำ 7 กิโล โดโลไมท์ 1 กิโล แคลเซียม หนึ่งกิโลครึ่ง พี่เอามาจากอินเทอร์เน็ตอีกที พี่เคยลองมาหลายสูตรแต่ก็ไม่เห็นความแตกต่าง พี่ก็เลยเลือกใช้สูตรที่ถูกที่สุด แล้วมันก็ออกเหมือนกัน ทำให้พี่ประหยัดต้นทุนพอสมควร

HugHed :  ขี้เลื่อยที่พี่นนท์ใช้ ทำมาจากไม้อะไรครับ
พี่นนท์ : ไม้ฉำฉา

HugHed : พี่นนท์มีวิธีการอย่างไรในการผสมขี้เลื่อยครับ
พี่นนท์ : ใช้จอบผสม เพราะพี่ทำไม่เยอะ 400-500 ก้อน ใช้ก้อนเก่ามาผสมด้วย สัก 40%  ใช้ขี้เลื่อยใหม่อีก 60%

HugHed : พี่นนท์มีกระบวนการในการนึ่งก้อนอย่างไรครับ
พี่นนท์ : ตอนแรกไปอบรมมาก็ใช้เตา superheat แต่ถัง200 ลิตร ใช้ได้ ปีเดียว แล้วรั่ว ก็เลยหยุด ก็เลยเปลี่ยนมาใช้เตานึ่งล่องหน นึ่งโดยการคลุมผ้ายางก้อนขี้เลื่อยที่ต้องการนึ่ง แล้วเอาอิฐคลุมทับเอาไว้ให้แน่นไม่ให้มีไอน้ำออกมา โดยเตาที่ใช้อาศัยพลังงานความร้อนจากแก๊ส

เตาsuperheat
HugHed : อุณหภูมิเท่าไรที่พี่นนท์ใช้ ในการนึ่งครับ
พี่นนท์ : 96-97 องศาเซลเซียส ถ้าความร้อน ถึง 96 องศาเซลเซียส แล้วเราจับเวลาต่ออีก 3 ชั่วโมง แต่ช่วงหลังพี่ลดเวลานึ่งเหลือ 2 ชั่วโมง ก็ไม่มีก้อนเสียเกิดขึ้น

HugHed :  พี่นนท์เจอปัญหาเรื่องก้อนเสียเยอะไหมครับ
พี่นนท์ : ก้อนเสียแรกๆเจอบ่อยมาก เกิดจากการนึ่งก้อนไม่สุก ทำให้ก้อนเห็ดเสียหมดเลย พี่เลยเปลี่ยนวิธีการในการนึ่งโดยใช้ตัวเทอร์โมมิเตอร์ตรวจสอบอุณหภูมิว่าถึงอุณหภูมิที่ต้องการหรือยัง ทำให้ไม่เกิดก้อนเสียในการนึ่ง ซึ่งตอนแรกพี่ใช้ฟืนเป็นตัวเชื้อเพลิงในการนึ่ง แต่ช่วงหลังเปลี่ยนเชื้อเพลิงมาเป็นแก๊ส ทำให้ประหยัดเวลาในการนึ่งมากขึ้น

เตานึ่งล่องหน
HugHed : ในช่วงบ่มก้อน พี่นนท์บ่มที่ไหน
พี่นนท์ : บ่มและเปิดก้อนในโรงเดียวกันเลยครับ จะได้ไม่เสียเวลาขนย้าย

HugHed : พี่นนท์เปิดดอกก้อนหนึ่ง เก็บเห็ดได้กี่ครั้งครับ
พี่นนท์ : พี่เก็บดอกเห็ดประมาณ 5 รุ่น ต่อก้อนเห็ดหนึ่งก้อน พอครบห้ารอบแล้ว ถึงจะนำก้อนเห็ดก้อนใหม่มาเปลี่ยนแทน เพราะนานกว่านั้นมันไม่คุ้มกับพื้นที่เรา

HugHed : ความห่างของการพักก้อน ของพี่นนท์ใช้ระยะเวลาเท่าไรครับ
พี่นนท์ : พี่จะพักก้อนประมาณ 2 อาทิตย์ต่อการเก็บดอกเห็ดหนึ่งครั้ง แล้วพี่ไม่ได้ใช้วิธีการเร่งดอก เพราะว่าจะทำให้น้ำหนักของดอกเห็ดไม่ได้ตามที่ต้องการ แล้วการเปิดดอกชุดสุดท้าย เราจะดึงจุกมันออก พับปากถุงลงให้มันโดนอากาศ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดเห็ดชุดสุดท้าย

HugHed : ดอกเห็ดต้องมีลักษณะอย่างไร เราถึงจะเก็บได้ครับ
พี่นนท์ : เราดูได้จากความงุ้มของขอบดอกเห็ด ถ้าดอกเห็ดมีลักษณะงุ้มเยอะ เราจะยังไม่เก็บ แต่ถ้าขอบดอกเห็ดเริ่มมีลักษณะเริ่มบาน เราก็สามารถเก็บเห็ดได้เลย

HugHed : พี่นนท์รู้ได้ยังไงว่าก้อนที่เปิดดอกแล้ว เราจะเก็บออกจากโรงเรือนได้ตอนไหนครับ
พี่นนท์ : เราสังเกตได้จากน้ำหนักของก้อนเห็ด ถ้าก้อนเห็ดเริ่มมีน้ำหนักเบามากขึ้น จะแสดงว่าอาหารในก้อนเห็ดเริ่มหมด ซึ่งจะมีผลให้น้ำหนักของเห็ดที่ได้น้อยลง และจำนวนเห็ดที่ได้ก็จะมีจำนวนลดลง เป็นเหตุผลที่ทำให้เราเปิดดอกเห็ดของก้อนเห็ดใหม่ดีกว่า เพราะดอกเห็ดที่เกิดจากก้อนเห็ดใหม่ จะมีน้ำหนักที่มากกว่า และปริมาณที่มากกว่า

HugHed : พี่นนท์เก็บดอกเห็ดวันละกี่ครั้งครับ
พี่นนท์ : เก็บสองรอบต่อวัน เก็บตอนเช้าหนึ่งรอบ กับตอนบ่ายสองอีกหนึ่งรอบ

HugHed : ปีแรกในการทำฟาร์มเห็ด พี่นนท์เจอปัญหาอะไรบ้างครับ
พี่นนท์ : เจอปัญหาเรื่องแมลงเป็นหลัก ภาคเหนือมีสองตัวคือ ด้วงปีกแข็ง  ตัวมันไม่อันตราย แต่หนอนมันอันตราย มันจะไปไข่วางไว้ในหน้าก้อน พอเป็นหนอนก็ไชเข้าไปในก้อนเห็ด ตอนแรกก็แก้ปัญหาโดยเอามุ้งมาคลุมโรงเรือน ก็พอช่วยได้บ้าง แต่ช่วงหลังพี่ตัดวงจรของด้วงปีกแข็งโดยการเคาะแมลงออกจากโคนดอกที่หน้าก้อน ก็ช่วยตัดวงจรมันได้
ตัวที่สองคือ แมลงหวี่ โดยที่ แมลงหวี่มักจะมาช่วงฤดูหนาว เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ มันจะไข่ที่ก้อน ทำให้เกิดหนอนแมลงหวี่กัดกินก้อนและเห็ดได้ โดยเฉพาะเห็ดนางรมฮังการีแมลงหวี่มันชอบมาก วิธีที่พี่แก้ปัญหาก็คือ
     วิธีที่ 1 เปลี่ยนชนิดเห็ด ถ้าช่วงฤดูหนาวเราเปลี่ยนเป็นนางฟ้าภูฐานมันจะดีกว่า เพราะแมลงหวี่ไม่ค่อยชอบเห็ดนางฟ้าภูฐาน
     วิธีที่ 2 คือ เราจะไม่เปิดดอกรอบแรกของเห็ดนางรมฮังการีในช่วงเดือน มกราคม-กุมภาพันธ์ เพราะเส้นใยมันยังสานกันไม่เต็มที่เป็นช่วงที่แมลงหวี่สามารถมาวางไข่ได้  แต่ถ้าช่วงเปิดดอกรอบสอง เส้นใยมันจะสานกันแน่นมันจะทำอะไรไม่ได้เลยในช่วงนี้ แต่ล่าสุดมีวิธีกำจัดหนอนแมลงหวี่ด้วยวิธีการฉีดสารชีวภาพชื่อไส้เดือนฝอย ซึ่งสามารถแก้ปัญหาหนอนแมลงหวี่ได้

HugHed : มุ้งที่พี่นนท์คลุมโรงเรือนสามารถกันแมลงหวี่ได้หรือเปล่าครับ
พี่นนท์ : กันไม่ได้ครับ กันได้แต่แมลงดำ

HugHed : ระบบน้ำที่รดให้เห็ดของพี่นนท์เป็นแบบไหนครับ
พี่นนท์ : ใช้มินิสปริงเกอร์ ปั๊มน้ำ และตัวตั้งเวลาครับ เราต้องปรับเวลา ตามประสบการณ์ ในช่วงฤดูฝนอาจจะปรับเวลาในการให้น้ำน้อย หรือไม่รดเลย ส่วนในช่วงฤดูร้อน อาจจะให้น้ำถี่ขึ้น ทุกชั่วโมงเลย ครั้งละ1-2 นาที  โดยที่เราจะไม่ให้น้ำขังที่ดอกเห็ดถ้าขัง เห็ดจะมีโอกาสเน่า

HugHed : พี่นนท์หาช่องทางในการจำหน่ายเห็ดครั้งแรกอย่างไรครับ
พี่นนท์ : ที่เริ่มเพาะเห็ด เพราะว่าเราอยากจะเรียนรู้กระบวนการของตลาดด้วย ซึ่งเห็ดใช้เวลาไม่นานในการเจริญเติบโต ทำให้พี่เรียนรู้ช่องทางในการทำการตลาด หรือจัดจำหน่ายได้เร็วมากขึ้นด้วย เมื่อก่อนพี่เป็นคนในเมือง ไม่รู้วิธีที่จะขายของให้กับแม่ค้า พอพี่เริ่มทำฟาร์มเห็ด ก็ทำให้เราเรียนรู้วิธีในการหาตลาด การจำหน่ายเห็ดจากฟาร์มของเรามากขึ้น ซึ่งตอนนี้พี่ก็มีแม่ค้าที่มารับเห็ดจากฟาร์มเป็นประจำแล้ว
     หลักการเราคืออย่างนี้ ให้เราเดินไปถามเลย ลองเสนอเห็ดของเรากับร้านขายผักที่ไม่มีเห็ดขาย เพราะถ้าเราไปถามแม่ค้าที่มีแผงขายเห็ดอยู่แล้ว จะทำให้เราขายยากขึ้น เพราะเขาจะมีเจ้าประจำที่รับเห็ดมาอยู่แล้ว โดยที่เราจะเสนอเห็ดให้สองกิโลกรัมก่อน ถ้าขายหมดเขาก็จะโทรมาสั่งเราเพิ่มเอง บางครั้งก็มีที่เขารับจัดโต๊ะจีนมาสั่งบ้าง ซึ่งฟาร์มของพี่เน้นเปิดดอกเห็ดอย่างเดียว ไม่ทำก้อนขาย เพราะเวลาเราทำก้อนขาย เราต้องตามไปแก้ปัญหาให้คนที่ซื้อก้อนจากเราไป ซึ่งเจอปัญหาค่อนข้างมาก เลยตัดปัญหาไม่ขายก้อนเห็ด เพราะว่า พี่ขายแต่ดอกเห็ด รายได้ก็พออยู่ได้แล้ว

วันนี้ต้องขอขอบคุณพี่นนท์มากเลยครับ ที่ได้เสียสละเวลา ให้กับชุมชนคนรักเห็ด ได้มีโอกาสเข้ามาเรียนรู้เรื่องของการทำเห็ด รวมถึงแนวคิดดีดีหลายอย่างจากฟาร์มฟ้าใสครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

พบกับพวกเราบน facebook