วันเสาร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

รดน้ำก้อนเห็ดอย่างไรดี??


        วันนี้มีบทความดีดีมาฝากค่ะ เป็นเรื่องของวิธีการรดน้ำก้อนเห็ดที่ถูกวิธี สำหรับนักเพาะเห็ดมือใหม่ และมือเก่าที่อาจมีคำถามต่างๆในเรื่องนี้ว่าควรทำอย่างไร ใช้อะไรรดน้ำ ตำแหน่งการรดน้ำ ความถี่ หรืออุปกรณ์ที่ใช้รดน้ำแบบไหนดีกว่า ลองไปอ่านกันเลยค่ะ




 วิธีการรดน้ำก้อนเห็ดที่ถูกต้องควรทำอย่างไร ?

การรดน้ำก้อนเห็ดมีประเด็นที่ต้องพิจารณาอยู่ 3-4 เรื่อง คือ
1. ใช้น้ำอะไรรดก้อนเห็ดดี
2. ตำแหน่งในการรดน้ำ
3. ความถี่ในการรดน้ำ
4. อุปกรณ์ที่ใช้รด
1. ใช้น้ำอะไรรดก้อนเห็ดดี
        น้ำที่ใช้รด เห็ดจะเจริญเติบโตได้ดีในสภาพเป็นกลาง หรือ pH 7.0 ในสูตรการเตรียมวัสดุเพาะที่ใช้ทำก้อนเห็ด จะมีการใส่ยิปซัม และปูนขาวลงไปด้วย สาเหตุคือวัสดุที่นำมาทำเป็นอาหารสำหรับเห็ด เช่น รำละเอียด ขี้เลื่อยมักมีสภาพเป็นกรด จึงต้องใส่ยิปซัม และปูนขาวที่มีคุณสมบัติเป็นด่างลงไป เพื่อปรับสภาพให้เป็นกลาง ดังนั้นน้ำที่จะใช้รดก้อนเห็ด ก็ควรจะมีค่าความเป็นกรด-ด่างที่ pH 7.0 แหล่งน้ำสามารถใช้ได้ทั้งน้ำบ่อ น้ำคลอง น้ำบาดาลที่ไม่กร่อย หรือแม้กระทั้งน้ำประปา

- สำหรับน้ำประปามีค่าความเป็นกรด-ด่างเป็นกลางอยู่แล้ว แต่ไม่เหมาะที่จะนำมาใช้เลย ควรตากแดดหรือรองทิ้งไว้ประมาณ 3-4 วัน เพื่อให้คลอรีนระเหยออกไปก่อน ข้อเสียของการใช้น้ำประปาคือมีต้นทุนที่สูง

- สำหรับท่านที่ใช้น้ำบาดาลควรจะมีการปรับด่างโดยการแกว่งสารส้มเพื่อให้เศษปูนและอื่น ๆ ที่มากับน้ำบาดาลตกตะกอน ไม่ว่าน้ำที่ใช้จะมาจากแหล่งไหน หากไม่แน่ใจควรจะทำการวัดค่าความเป็นกรด-ด่างของน้ำก่อนเสมอ เสียเวลาเล็กๆน้อยๆดีว่าปล่อยให้เห็ดเสียหาย

 2. ตำแหน่งการรดน้ำ
        การรดให้รดโดยรอบก้อน และให้รดจากก้อนที่อยู่บนสุด และน้ำจะค่อยไหลลงมาก้อนที่เรียงอยู่ด้านล่าง สิ่งที่ต้องระมัดระวังที่สุด คือ ไม่รดน้ำเข้าไปที่หน้าก้อน เพราะน้ำจะเข้าไปขังในก้อนเห็ดเป็นอันตรายต่อก้อนเห็ดเป็นอย่างมาก เพราะเส้นใยเห็ดที่เดินขาว ๆ อยู่ตายกลายเป็นเมือก ที่เรียกกันว่า “ราเมือก” เมื่อมีราเมือก เห็ดจะไม่ออกดอก และก้อนเห็ดจะเสีย นอกจากการรดบนก้อนเห็ดแล้ว บางครั้งอาจจะต้องรดที่พื้น ผนัง และหลังคาของโรงเรือนเพิ่มเข้าไปด้วย  


 3. ความถี่ในการรดน้ำ
       ไม่มีคำตอบที่แน่นอนว่าควรจะรดน้ำกี่ครั้งต่อวัน ความถี่ในการรดน้ำให้พิจารณาอุณหภูมิ ความชื้นสัมพันธ์ สภาพของก้อนเห็ด ลมและอากาศเป็นองค์ประกอบ เห็ดแต่ละชนิดเจริญเติบโตได้ดีในอุณหภูมิและความชื้นสัมพันธ์ที่แตกต่างกัน ดังนั้นเป็นเรื่องจำเป็นที่นักเพาะเห็ดมือใหม่จะต้องรู้ว่าเห็ดแต่ละชนิดที่เราเพาะเจริญเติบโตได้ดีในอุณหภูมิกี่องศาและความชื้นสัมพันธ์กี่เปอร์เซนต์ เช่น เห็ดหูหนู อุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ระหว่าง 25-30 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพันธ์อยู่ที่ 85-90% การรดน้ำในสภาพปกติอยู่ที่ 4-5 ครั้งต่อวัน คือเช้า สาย บ่าย เย็น แต่หากอุณหภูมิสูงไปถึง 35 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพันธ์ต่ำ ควรจะรดน้ำให้นานขึ้นอีกสักเล็กน้อย หรือรดที่พื้น และผนังโรงเรือนเพิ่มไปด้วย ในทางกลับกัน หากความชื้นสูง เราก็ควรจะลดการรดน้ำลง พร้อมทั้งเปิดโรงเรือนเพื่อให้มีการระบายอากาศอันเป็นกรอบกว้างๆ เท่านั้น เราต้องดูลึกลงไปที่สภาพของดอกและก้อนเห็ดด้วย เช่น หากเราสังเกตเห็นว่าดอกเห็ดแห้ง ดอกไม่มีน้ำหนัก นั้นเป็นอาการขาดน้ำ ก็ควรจะรดน้ำเพิ่มตรรกะความสัมพันธ์และการเชื่อมโยงระหว่างอุณหภูมิ ความชื้นภายนอก ความชื้นในก้อน การรดน้ำ การระบายอากาศจึงเป็นเรื่องที่นักเพาะเห็ดมือใหม่ต้องทำความเข้าใจให้ถ่องแท้


4. อุปกรณ์ในการรดน้ำ
       ในระยะแรก กูรูผู้เชี่ยวชาญการเพาะเห็ด มักแนะนำ
ให้รดน้ำแบบManual (เช่น สายยาง บัวรดน้ำ) ไปก่อน เพื่อที่นักเพาะเห็ดจะได้ศึกษาทำความเข้าใจการรดน้ำได้ถูกต้อง เช่น หากเราเห็นว่าเห็ดตรงไหนชื้นมาก เราก็รดน้ำตรงนั้นให้น้อย เห็ดตรงไหนแห้งมาก ก็รดน้ำให้มากหน่อย หากใช้เครื่องรดน้ำแบบอัตโนมัติ การรดน้ำจะทำในปริมาณที่เท่ากัน ก้อนไหนแชะอยู่แล้ว จะยิ่งแชะหนักเข้าไปอีก แต่ไม่ว่าจะใช้อุปกรณ์แบบ Manual หรืออัตโนมัติ น้ำต้องเป็นฝอยละเอียด น้ำต้องไม่แรงเกินไป


 เป็นยังไงบ้างคะ ได้ศึกษาวิธีการรดน้ำก้อนเห็ดที่ถูกต้องไปแล้ว ยังไงลองนำไปปรับใช้ในฟาร์มเห็ดของพวกเราดูนะคะ ^__^

ขอบคุณที่มาภาพและข้อมูล :
- ดณัยภพฐ์ นุชฟอร์ไลฟ์ ศูนย์สระแก้ว http://nuchforlife.co.th/download/mushroom.pdf
- http://www.ifarm.in.th/index.php?option=com_content&view=article&id=585:mushrom-watering
- http://siammushroom.com/wp-content/uploads/2012/04/รูปถ่าย1103.jpg
- http://www.shuanghor.co.th/lingzhifarm.aspx
- http://www.oknation.net/blog/home/blog_data/71/71/images/n28.jpg

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

พบกับพวกเราบน facebook