วันอังคารที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2558

ล้านนาสวนเห็ด อาณาจักรเห็ดหอมเชียงใหม่

      สวัสดีครับ วันนี้ผมมีบทสัมภาษณ์ที่น่าสนใจเป็นอย่างมากสำหรับคนที่อยากจะทำฟาร์มเห็ดหอม เพราะผมมีโอกาสได้เข้าไปสัมภาษณ์ฟาร์มเห็ดแห่งหนึ่งใน อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ ชื่อล้านนาสวนเห็ด เจ้าของฟาร์มคืออาจารย์เสกสรรค์ กันธะ ซึ่งอาจารย์ได้ให้ความรู้ในหลายๆเรื่องของการเพาะเห็ดหอม และเห็ดหูหนู ซึ่งความรู้บางอย่างอาจไม่มีในตำรา เรามาอ่านบทสัมภาษณ์กันเลยดีกว่าครับ มาดูว่าอาจารย์มีวิธีการทำเห็ด และแนวคิดการทำฟาร์มเห็ดอย่างไรให้ประสบความสำเร็จครับ


HugHed : เริ่มแรกของการทำฟาร์มเห็ด อาจารย์เริ่มต้นยังไงครับ
อาจารย์ : เริ่มแรกเดิมที เป็นครูอัตราจ้าง สอนอยู่วิทยาลัยเกษตร ในช่วงแรกได้ร่วมหุ้นกับญาติหลายคนในการทำฟาร์มเห็ด พอทำได้สองสามปี ก็แยกออกมาทำฟาร์มเห็ดเอง

HugHed : อาจารย์ทำฟาร์มเห็ดมาได้กี่ปีแล้วครับ
อาจารย์ : เริ่มทำตั้งแต่ปี 2540 ตอนนี้ทำได้ประมาณ 18 ปีแล้ว

HugHed : ตอนนี้อาจารย์มีโรงเรือนกี่โรงครับ
อาจารย์ : ตอนนี้มี 22 โรงเรือน ปีนี้โดนลมพัดทำลาย
ไป 3 โรง เหลือ 19 โรงเรือนที่ใช้งานได้ เลยอาจจะเปลี่ยนความคิดทำเป็นโครงสร้างให้ถาวรขึ้น

HugHed :  ในช่วงแรกของการทำฟาร์มเห็ด โรงเรือนทำจากหญ้าคาแบบที่เห็นเลยรึป่าวครับ
อาจารย์ : ทำจากหญ้าคาตั้งแต่วันแรกของการทำฟาร์มเห็ดจนถึงวันนี้เลย

HugHed : โรงเรือนของอาจารย์ มีอายุการใช้งานกี่ปีครับ
อาจารย์ : ตัวหลังคาที่เป็นหญ้าคา อยู่ได้ประมาณ 3 ปี  โครงสร้างที่ทำจากไม้ไผ่อยู่ได้ประมาณ 5 ปี

HugHed : โรงเรือนถาวรที่อาจารย์จะทำ อาจารย์จะใช้พื้นเป็นวัสดุอะไรครับ
อาจารย์ : ถ้าจะให้ดีต้องเป็นพื้นคอนกรีต มันจะช่วยเรื่องป้องกันแมลงจากพื้นดิน เพราะพื้นดินก็เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคได้เหมือนกัน

HugHed : สิ่งที่เห็ดต้องการขณะเจริญเติบโตมีอะไรบ้างครับอาจารย์
อาจารย์ : ตัวแปรที่สำคัญคือ ความชื้น แสง อุณหภูมิ และวัสดุเพาะ

HugHed : อุณหภูมิในโรงเรือนของอาจารย์เป็นอย่างไรบ้างครับ
อาจารย์ : อุณหภูมิเราควบคุมไม่ได้ เพราะฟาร์มที่นี่เป็นโรงเรือนแบบเปิด เลยไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิได้ เหตุผลที่ทำโรงเรือนด้วยหญ้าคาเพราะว่าคนที่เลี้ยงเห็ดหอมหลายคนลองใช้โรงเรือนมุงด้วยหลังคาลอน มันมีปัญหาเรื่องการระบายอากาศ ระบายความร้อน แต่หลังคาที่มุงด้วยหญ้าคามีปัญหาน้อยกว่า เพราะหญ้าคามันมีรูพรุนตามธรรมชาติในเส้นของมันอยู่แล้ว ทำให้การระบายความร้อนทำได้ดี บางโรงเรือนที่ใช้หลังคาลอนเขาเข้ามาปรึกษา เราอาจจะแก้ไขได้โดยทำเพดาน อาจจะหาฉนวนกันความร้อน โฟม หรือกล่องกระดาษ มาทำเพดาน ก็พอแก้ไขได้บ้าง แต่โรงเรือนที่มุงด้วยหญ้าคาก็มีข้อเสียคือ มันไม่ค่อยทน เมื่อเจอพายุ อาจจะทำให้โรงเรือนเสียหายได้ และหากจัดการโรงเรือนไม่ดีหญ้าคาจะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของแมลงและเชื้อราศัตรูเห็ดได้

HugHed : การปลูกต้นไม้ระหว่างโรงเรือน จะช่วยในเรื่องการลดอุณหภูมิโรงเรือนได้หรือเปล่าครับ
อาจารย์ : ช่วยได้ในเรื่องลดความร้อนกับแสงแดดที่กระทบหลังคา แต่ว่ามีผลต่อการถ่ายเทอากาศเหมือนกัน เพราะถ้าต้นไม้บังลม อาจจะมีผลในเรื่องการถ่ายเทอากาศภายในโรงเรือนได้

HugHed :  ในช่วงเริ่มแรก อาจารย์เพาะเห็ดอะไรครับ
อาจารย์ : ในช่วงเริ่มแรกทำเห็ดหอมเลย สมัยนั้นเริ่มนิยมเพาะเห็ดหอม   เพราะตลาดตอนนั้นราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ  80-100 บ.  ขึ้นอยู่กับเกรด A B C แต่เห็ดนางฟ้าอยู่ที่กิโลกรัมละ 15-20 บ. เอง เห็นราคามันสูงกว่าเลยสนใจเพาะเห็ดหอม




HugHed
:  เห็ดหอมที่นิยมเพาะกัน มีพันธุ์อะไรบ้างครับ
อาจารย์ : มีสองพันธุ์ที่เขานิยมเพาะกัน คือ พันธุ์เบอร์ 3 หรือพันธุ์ดอกเล็ก กับพันธุ์ดอกใหญ่ ดอกจะคล้ายสีทอง ชาวบ้านเลยเรียกพันธุ์สีทอง

HugHed
:  แล้วตอนนี้อาจารย์เพาะเห็ดอะไรบ้างครับ
อาจารย์ : เห็ดที่เปิดดอกจะมีเห็ดหอม กับเห็ดหูหนู นอกนั้นเป็นเห็ดนางรม นางฟ้า เป๋าฮื้อ จะเน้นขายก้อนอย่างเดียว โดยในช่วงปีสองปีก่อนจะเน้นขายก้อนเป็นหลัก

HugHed : อาจารย์เริ่มเพาะเห็ดหูหนูนานหรือยังครับ
อาจารย์ : เริ่มไม่กี่ปีนี้เอง ประมาณ 5-6 ปี

HugHed :  จากที่เราเลี้ยงเห็ดหอมมาตลอด ทำไมถึงเพาะเห็ดหูหนูด้วยครับ
อาจารย์ : เพราะฤดูทำก้อนเชื้อเห็ดหอมมันจะอยู่ช่วงประมาณเดือน มิย.- มค. หลังจากนั้นอากาศจะร้อน ช่วงที่พักโรงเรือนหลายเดือน ก็เลยทำเห็ดหูหนูไปด้วย เพราะเห็ดหูหนูใช้เวลาบ่มแค่ 45 วัน เก็บอีก 2 เดือน เวลามันพอสำหรับรอช่วงที่จะทำเห็ดหอมในรอบถัดไป
 
HugHed : วัสดุที่ทำก้อนเห็ดหอม กับเห็ดหูหนูต่างกันหรือเปล่าครับ
อาจารย์ :  เหมือนกัน ขี้เลื่อยผสมกับอาหารเสริม โดยใช้รถไถเป็นตัวผสม วันหนึ่งใช้เวลาประมาณ 5 นาทีผสมขี้เลื่อย บางฟาร์มเขาใช้เครื่องผสม มันผสมได้ทีละน้อย แต่ที่นี่เราต้องทำก้อนเห็ดวันละพันสองพันก้อน ต้องผสมทีละเยอะ การใช้เครื่องผสมทำได้ทีละน้อย ทำให้วิธีการผสมด้วยรถไถทำได้เร็วกว่ามาก

HugHed : อาจารย์ใช้ขี้เลื่อยจากไม้อะไรทำก้อนครับ 
อาจารย์ : การเพาะเห็ดหอมเหมาะกับการใช้ขี้เลื่อยจากไม้ฉำฉา ไม้ยางพาราก็ใช้ได้ไม่ต่างกัน แต่ถ้าเป็นเห็ดสกุลนางรม ขี้เลื่อยไม้ยางพาราจะเหมาะกว่า อยู่ที่ความสามารถในการย่อยสลายเนื้อไม้ ของเห็ดแต่ละชนิด อย่างเห็ดสกุลนางรมมันดึงไปใช้ได้ง่ายกว่า มันสลายตัวง่ายกว่า เพราะไม้ฉำฉา ที่นำมาใช้เป็นขี้เลื่อยอายุเป็นร้อยปี ลิกนินสะสมในเนื้อไม้มันสูง แต่เห็ดหอมสามารถย่อยอาหารไปใช้ได้ ผลผลิตไม่ต่างกัน ถ้าเป็นเห็ดสกุลนางรม ใช้ขี้เลื่อยไม้ฉำฉาผลผลิตจะต่ำ  ถ้าจะใช้ไม้ฉำฉาต้องนำมาหมักให้มันสลายตัวระดับหนึ่งก่อน กองทิ้งไว้สองสามเดือนค่อยมาใช้ ส่วนขี้เลื่อยอื่น ๆ นี้สามารถนำมาเพาะเห็ดได้ ได้แก่ ไม้เนื้ออ่อน เช่น ไม้มะม่วง ไม้ตะกู

HugHed : อาหารที่ใช้ผสมกับขี้เลื่อย อาจารย์ใช้สูตรอาหารอะไรหรือครับ
อาจารย์ : อาหารใช้สูตรทั่วไปในตำรา มีดัดแปลงบ้างนิดหน่อย หาวัสดุที่ลดต้นทุน มีในท้องถิ่นหาง่าย เมื่อก่อนใช้น้ำตาลทราย แต่ช่วงหลังเปลี่ยนจากน้ำตาลทรายมาใช้กากน้ำตาลแทน โดยสูตรอาหารจะมีรำละเอียด 25 กิโลกรัม กากน้ำตาล 10 กิโลกรัม แคลเซียมซัลเฟต 10 กิโลกรัม โดโลไมท์ 6 กิโลกรัม จะไม่ใช้แมกนีเซียมซัลเฟต (ดีเกลือ)  เพราะในตัวโดโลไมท์มีแมกนีเซียมประมาณ 19 % แต่ถ้าใช้แคลเซียมคาร์บอเนตจะผสมแมกนีเซียมซัลเฟต (ดีเกลือ) ด้วย

HugHed : เวลาอาจารย์ทำการอัดก้อน ใช้เครื่องอัดหรือแรงงานคนในการอัดก้อนครับ
อาจารย์ : ใช้แรงงานคน ได้คนละ 500 ก้อนต่อวัน

HugHed : เวลาอาจารย์นึ่งก้อน อาจารย์ใช้วิธีการอย่างไรครับ
อาจารย์ : จะนำก้อนใส่ตะกร้าเหล็ก แล้วจะนำตะกร้าเหล็กที่มีก้อนยกใส่รถยกลาก แล้วดันเข้าไปในเตานึ่ง นึ่งเสร็จก็เอารถยกลากออกมาแล้วไปที่ห้องเขี่ยเชื้อต่อ

HugHed : เตานึ่ง อาจารย์ใช้อะไรเป็นเชื้อเพลิงครับ
อาจารย์ : ใช้ขี้เลื่อย เตานี่ประหยัดกว่าถ้าเทียบกับเตาลูกทุ่ง ใช้ขี้เลื่อยที่เขาไสไม้จากวงกบประตู หน้าต่าง เป็นเศษขี้เลื่อยหยาบๆ เตานี้ใช้ขี้เลื่อย 1 คันรถ 6 ล้อ จะนึ่งได้ประมาณ 20,000 ก้อน ถ้าเป็นหม้อนึ่งลูกทุ่งจะนึ่งได้ประมาณ 5000 ก้อน แบบนี้ประหยัดกว่าเยอะ

HugHed : ใช้เวลานานไหมครับกว่าความร้อนจะถึง 100 องศาเซลเซียส
อาจารย์ : ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง ในการอุ่นเตาให้ขึ้นถึง 100  องศาเซลเซียส นึ่งก้อนต่ออีก 3 ชั่วโมง รวมแล้วประมาณ 6-7 ชั่วโมง ใช้เวลานานหน่อยแต่ประหยัด แก๊สอาจจะนึ่งได้เร็วกว่า แต่ต้นทุนต่างกันเยอะ แต่มีข้อเสียคือควันเยอะ

HugHed : อาจารย์เขี่ยเชื้อเองเลยไหมครับ
อาจารย์ : ทำเองตั้งแต่เลี้ยงเชื้อในอาหารวุ้น PDA แล้วค่อยไปเลี้ยงในเมล็ดธัญพืช อาหารวุ้นถ้าเดินเต็มขวดก็จะเก็บไว้ในตู้เย็น แล้วถ้าจะใช้ค่อยเอาออกมาถ่ายลงข้าวฟ่าง

HugHed : อาจารย์ขายก้อนเห็ดราคาเท่าไหร่ครับ
อาจารย์ : ก้อนที่หยอดเชื้อเสร็จราคาก้อนละ 6 บาท ถ้าเชื้อเดินไปสักสองนิ้ว-สามนิ้ว ราคาก้อนละ 7 บาท ถ้าเราทำการบ่มก้อนเอง ภายในอาทิตย์แรก ถ้าก้อนไหนมีเชื้อรา มันจะเห็นได้เลย แต่ถ้าหลังจากนี้ก็จะไม่ค่อยติดเชื้อราแล้ว

HugHed :  เคยมีก้อนเห็ดที่เสียบ้างหรือเปล่าครับ
อาจารย์ : มีเสียบ้างไม่มาก เราป้องกันเรื่องความสะอาดเวลาเขี่ยเชื้อ คนงานต้องใส่เสื้อผ้าที่สะอาด ล้างมือพ่นแอลกอฮอล์ก่อนไปหยอดเชื้อ หัวเชื้อไม่มีการปนเปื้อน ในห้องก่อนเอาก้อนเห็ดที่นึ่งเสร็จแล้วเข้าไปต้องมีการพ่นแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อก่อน ห้องต้องมิดชิดลมไม่โกรก เพราะเชื้อโรคเชื้อราต่างๆมันจะปลิวไปตามลม ประตูก็ต้องปิดมิดชิด และควรจะเพาะเห็ดให้เหมาะสมกับฤดูกาล เปอร์เซ็นต์เสียจะน้อย

HugHed :  ตอนเราบ่มก้อนเห็ดหอม ควรจะให้อุณหภูมิอยู่ในช่วงไหนครับ
อาจารย์ : อุณหภูมิไม่ควรเกิน 34 องศาเซลเซียส ช่วงหน้าร้อนอุณหภูมิมันสูงเกือบจะ 40 องศาเซลเซียส ทำให้เชื้อเห็ดเดินช้ามาก เปอร์เซ็นต์ก้อนเสียเยอะ การติดเชื้อสูง หลังจากเส้นใยเดินเต็มก้อนใช้เวลาประมาณเกือบ 2 เดือน หรือ 45-60 วัน แต่ต้องใช้เวลาบ่มต่ออีก 2-3 เดือน ถ้ามีอุณหภูมิที่เย็นประมาณ 18-25 องศาเซลเซียส เส้นใยเห็ดหอมจะเริ่มสร้างตุ่มดอกเล็ก และเชื้อเริ่มสร้างผนังเป็นแผ่นสีน้ำตาล โดยเฉพาะส่วนด้านบน และด้านข้าง ของก้อน ถ้าส่วนบนก้อนเป็นสีน้ำตาลประมาณ 50% จากเส้นใยสีขาว ถึงจะเปิดดอกได้

HugHed : ช่วงที่ทำการบ่มก้อน จะมีโอกาสติดเชื้อจากอะไรบ้าง
อาจารย์ : ราเขียว และแมลงเข้าทำลายก้อน เพราะเห็ดหอมเราเอาวางลงบนพื้น มีโอกาสที่แมลงจะเจาะเข้าไปที่ก้อนได้ ป้องกันโดยใช้ปูนขาวหว่านที่พื้นโรงเรือน และหว่านลงบาง ๆ บนก้อนเห็ดที่วางบ่ม

HugHed : เวลาให้ความชื้น เราให้น้ำลงโดนหน้าก้อน ได้เลยหรือเปล่าครับ
อาจารย์ : ได้เลย แต่ต้องกรีดก้นถุงด้วย เวลาเรารดน้ำลงไป น้ำจะได้ระบายลงข้างล่าง

HugHed : เมื่อเราเจาะก้นถุง จะมีแมลงเข้ามาทางก้นถุงหรือเปล่าครับ
อาจารย์ : ก็มีบ้างส่วนใหญ่เป็นพวกไร แต่ถ้าเส้นใยเดินเต็มจะไม่มีปัญหา จะมีปัญหาตอนบ่มก้อน ตอนบ่ม ก่อนจะนำก้อนเข้าโรงเรือน เราต้องลงยาฆ่าแมลง และคลอรีนฆ่าเชื้อ พ่นก่อนประมาณ 1 อาทิตย์ ก่อน วันที่เอาก้อนเข้า ให้เอาทรายโรยทับพื้นบางๆ โรยปูนขาวอีกทีหนึ่ง ปูนขาวช่วยป้องกันทั้งแมลง ปลวก ไร โดยหว่านคลุมหน้าก้อนข้างบน ไม่ให้เข้าไปในก้อน ช่วยป้องกันทั้งเรื่องหอยทาก มด หนูที่จะมาเจาะกินก้อน

HugHed : แสดงว่าช่วงที่ต้องดูแลให้ดี คือช่วงบ่มก้อน ถ้าเส้นใยเดินเต็มแล้วไม่ค่อยมีปัญหาอะไร
อาจารย์ : ถ้าเป็นช่วงอากาศที่เหมาะสม อย่างช่วงหน้าฝน ถึงแม้จะติดเชื้ออย่างอื่น เส้นใยเห็ดหอมมันแข็งแรงมาก เชื้ออื่นไม่สามารถทำอันตรายได้ แต่ถ้าอากาศร้อน พวกเชื้อราพวกนั้นมันจะโตเร็วกว่า อาจทำให้ก้อนเห็ดติดเชื้อราได้ ในช่วงหน้าร้อนเคยมีเพื่อนไปทำบนดอย สูงกว่าระดับน้ำทะเล 1050 ม. ทำได้ทั้งปี แต่มีปัญหาช่วงฤดูหนาว อุณหภูมิต่ำกว่า 14 องศาเซลเซียส เห็ดแทบไม่ออกเลย กระตุ้นแทบไม่ขึ้นเลย

HugHed : อาจารย์มีวิธีในการกระตุ้นเห็ดยังไงครับอาจารย์ :  บางคนจะใช้น้ำเย็นประมาณ 14 องศาเซลเซียส แช่ในถัง 200 ลิตร เอาไปพ่น หรือบางคนเอาน้ำแข็งไปวางโป๊ะหน้าก้อน ที่นี่ดัดแปลงรองเท้าแตะติดด้าม ปกติเห็ดต้องกระตุ้นโดยการเคาะหน้าก้อน ใช้วิธีสั่นสะเทือนหน้าก้อน แต่ต้องรอก้อนเห็ดสร้างผนังสีน้ำตาลข้างบนก่อน  เมื่อมีผนังสีน้ำตาลประมาณ50% ค่อยเปิด พอเปิดแล้วมันได้อากาศ สักสองอาทิตย์ส่วนบนที่สัมผัสกับอากาศ มันจะเป็นสีน้ำตาลทั้งหมดเลย เราก็จะเริ่มให้ความชื้น

HugHed : ระบบน้ำภายในโรงเรือนของอาจารย์เป็นแบบไหนครับ
อาจารย์ : เป็นระบบ ใช้มินิสปริงเกอร์กับหัวพ่นหมอก หัวพ่นหมอกจะช่วยลดอุณหภูมิภายในโรงเรือนได้ ช่วยไม่ให้เกิดความร้อนสะสมภายในโรงเรือนมาก มีสองระบบ มีตัวสปริงเกอร์ กับตัวพ่นหมอก ตัวพ่นหมอกจะใช้ในโรงเห็ดหอม เพราะช่วยลดอุณหภูมิ และเพิ่มความชื้นช่วงหน้าร้อน ถ้าใช้เปิดสปริงเกอร์ หลังเปิดไม่ถึง 10 นาที เดินมาดูหน้าก้อนแห้งหมด ต้องใช้หัวพ่นหมอก เปิดเรื่อยๆ ไม่เปลืองน้ำเท่าสปริงเกอร์ แต่ต้องใช้ปั๊มที่มีแรงดันพอ เราไม่ควรใช้น้ำประปารดน้ำเห็ด เพราะในน้ำประปาอาจมีคลอรีน ซึ่งจะไปทำลายกระบวนการหายใจของเห็ดได้

HugHed : หลังจากเรากระตุ้นเห็ดหอมแล้ว นานไหมครับกว่าจะเก็บดอกได้
อาจารย์ : หลังจากเรากระตุ้นก็จะใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน จะมีตุ่มเห็ดออกมา และจะเริ่มเก็บผลผลิตประมาณวันที่ 4-5 นับจากวันกระตุ้น

HugHed : ช่วงที่เปิดดอก เห็ดมันต้องการแสง หรือเปล่าครับ
อาจารย์ : ต้องการแสงรำไรครับ แสงมีส่วนช่วยให้เส้นใยเห็ดพัฒนาไปเป็นดอกเห็ด หลังจากเส้นใยเดินเต็มถุง แสงก็จะมีส่วนในการช่วยให้เห็ดหอมสร้างผนังสีน้ำตาล แรกๆก็จะมีสีน้ำตาลด้านข้างถุงบ้าง ถ้าเราเปิดหน้าก้อนส่วนบนก็จะได้อากาศ ความชื้น ได้แสงกระตุ้น ตรงหน้าก้อนก็จะเป็นสีน้ำตาลมากขึ้น จาก 50 เปอร์เซ็นต์ก็เต็มก้อนหมด หลังจากนั้นเราค่อยทำการกระตุ้นให้เกิดดอกเห็ด ตัวผนังสีน้ำตาลนี้ธรรมชาติของเห็ด สร้างขึ้นป้องกันการสูญเสียความชื้น ป้องกันแมลง ป้องกันเชื้อราตัวอื่น

HugHed : ก้อนเห็ดหนึ่งก้อน อาจารย์สามารถเก็บดอกเห็ดได้กี่รุ่นครับ
อาจารย์ : ประมาณ 9 รุ่น แต่ละรุ่น จะห่างกันประมาณ 15 วัน นับจากวันที่เก็บผลผลิตแต่ละรุ่นหมดถึงจะกระตุ้นให้ออกดอกอีกครั้งหนึ่ง

HugHed : ในช่วงที่เราเก็บดอกเห็ดไปแล้วหลังจากนั้นจะมีดอกเห็ดออกมาอีกบ้างหรือเปล่าครับ
อาจารย์ : มีออกบ้างไม่เยอะ จะออกแซมบ้างเล็กน้อย โดยเฉพาะในช่วงอากาศเย็นและชื้น เวลาเรากระตุ้นให้ดอกเห็ดออก ต้องคอยบริหารเวลาในการกระตุ้นให้ดี เราจะได้หมุนเวียนในเรื่องการจำหน่ายดอกเห็ดให้กับลูกค้าได้

HugHed : เราสามารถทำให้เห็ดหอมออกดอกทั้งปีได้หรือเปล่าครับ
อาจารย์ : สามารถทำให้ออกดอกทั้งปีได้ แต่คุณภาพของผลผลิตมันขึ้นอยู่กับสภาพของอากาศ เช่น เห็ดหอมพันธุ์สีทอง ถ้าอุณหภูมิต่ำกว่า 15 องศา จะไม่ค่อยออกดอก เห็ดหอมจะออกดอกในช่วงอุณหภูมิ 15-34 องศา  อุณหภูมิ 34 ก็ยังออกแต่คุณภาพไม่ค่อยจะดี ผลผลิตน้อย ถ้าอุณหภูมิกลาง ๆ ประมาณ 20-25 ดอกออกกำลังดี

HugHed : อาจารย์เคยลองเพาะเห็ดหอมนอกฤดูกาลหรือเปล่าครับ
อาจารย์ : การเพาะเห็ดหอมนอกฤดูกาล เปอร์เซ็นต์การเจริญของเส้นใยช้า ใช้เวลาบ่มนาน จาก 5 เดือน เป็น 7-8 เดือน  เราจึงต้องเลือกเห็ดชนิดเห็ดให้เหมาะสมตามฤดูกาล เห็ดจะได้ออกเต็มที่  และถ้าสภาวะอากาศเหมาะสมกับเชื้อของเห็ด การดูแลก็จะง่ายกว่า

HugHed : เห็ดหูหนูมีวิธีการทำให้ออกดอกแตกต่างกับเห็ดหอมหรือเปล่าครับ
อาจารย์ : ให้ทำการแขวนก้อน แล้วกรีดให้ออกรอบก้อน เห็ดจะออกตรงรูที่เรากรีด ก้อนหนึ่งออกประมาณสี่รอบโดยใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ผลผลิตโดยรวมประมาณ 300-400 กรัมต่อก้อน

HugHed : อาจารย์ทำอย่างไรกับก้อนเห็ดเก่าครับ
อาจารย์ : บางฟาร์มเอาก้อนเก่ามาทำซ้ำ มันเป็นการสะสมของพวกแมลง เราควรจะทิ้งไปเลย ถ้าใช้ซ้ำโอกาสที่พวกแมลงจะกลับมาขยายพันธุ์ใหม่มีสูง  หรือถ้าจะเอาทำปุ๋ยก็แยกให้ไกลจากโรงเรือน

HugHed : ตั้งแต่อาจารย์เพาะเห็ดมา อาจารย์เจอปัญหาอะไรบ้างครับ
อาจารย์ : แมลง และ ตลาด  ถ้าเราทำในพื้นที่เดิมๆซ้ำมานาน มักจะมีปัญหาเรื่องแมลง อย่างเช่น แมลงวันขายาว แมลงหวี่ ไร

HugHed : อาจารย์แก้ปัญหาอย่างไรครับ
อาจารย์ : ใช้จุลินทรีย์และสารชีวภาพมาป้องกันและกำจัด ส่วนสารเคมีใช้ช่วงก่อนเอาก้อนเห็ดเข้าโรงเรือน เพื่อฆ่าเชื้อในโรงเรือน 

HugHed : เริ่มแรกอาจารย์ขายเห็ดอย่างไรครับ
อาจารย์ : ในช่วงแรกเราไปเสนอขายให้กับแม่ค้าที่ตลาด ในช่วงหลังมีแม่ค้ามารับเห็ดที่ฟาร์มเอง มีหลายเจ้าเราก็เฉลี่ยกัน เราจะได้ยันราคาได้ จะไม่เจาะจงส่งเจ้าใดเจ้าหนึ่ง บางทีเห็ดเราออกเยอะมากเราก็ยอมลดราคาให้เห็ดมันระบายออก พยายามเฉลี่ยปริมาณเห็ดให้กับแม่ค้าที่มารับ

HugHed : เรื่องตลาดมีปัญหาบ้างหรือเปล่าครับอาจารย์
อาจารย์ : ผลผลิตล้นตลาดเป็นบางช่วง เพราะเห็ดในเชียงใหม่ส่วนใหญ่จะขายเฉพาะเชียงใหม่ ตลาดในเชียงใหม่มีเห็ดจากเชียงราย เห็ดจากเลย แถวภูเรือ เขาก็จะนำมาขายที่เชียงใหม่ด้วยบางครั้ง แต่ก็มีเห็ดหอมที่มาจากจีนซึ่งราคาถูกกว่า แต่คุณภาพสู้เห็ดของเราไม่ได้ คนนิยมเลือกซื้อเห็ดหอมของเรามากกว่า แต่ถ้าคนเลือกเห็ดจากจีน เราคงอยู่ไม่ได้ 555

HugHed : แสดงว่าเห็ดบ้านเรามีคุณภาพดีกว่า แต่เห็ดจีนเขาจะเน้นปริมาณเยอะกว่า
อาจารย์ : แถวนี้เพาะเห็ดหอมกันเยอะก็แข่งขันกัน ตัวแปรสำคัญคือช่วงฤดูท่องเที่ยว เป็นตัวแปรที่เห็ดหอมมีความต้องการมาก ฤดูที่มีเทศกาลขึ้นบ้านใหม่ แต่งงาน รับเหมาโต๊ะจีน พ่อค้าประจำที่มารับจากเราก็เยอะ ฤดูท่องเที่ยว ส่วนเห็ดหูหนูเป็นเห็ดพื้นบ้าน  จะทำช่วงพักโรงระหว่างรอทำเห็ดหอม ตลาดก็พอไปได้ เพราะเป็นเห็ดที่ชาวบ้านกินกันทั่วไป ราคาปลีกของเห็ดหูหนูออกหน้าสวนไปถึงถึงมือคนกินประมาณกิโลละ 100 บาท ส่วนเห็ดหอมออกจากฟาร์มไป กิโลละ 160-170 บาท ไปถึงคนกินก็เกือบ 300 บาท

      ทางชุมชนคนรักเห็ดต้องขอขอบคุณอาจารย์เสกสรรค์ เป็นอย่างสูงที่ได้เสียสละเวลามาให้ความรู้ในเรื่องของการทำเห็ดหอม ให้กับพวกเรา สำหรับคนรักเห็ดท่านไหนที่อยากจะปรึกษาในเรื่องของการทำเห็ดหอมสามารถปรึกษาอาจารย์ได้เลยนะครับ ^__^

7 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณที่แบ่งปันความรู้ครับ

    ตอบลบ
  2. มีก้อนเชื้อขายไหมค่ะ

    ตอบลบ
  3. ความคิดเห็นนี้ถูกลบโดยผู้ดูแลระบบของบล็อก

    ตอบลบ
  4. อยากทราบทางไปฟาร์ม
    และราคาก้อนเห็ดแต่ละชนิดค่ะ
    จะได้คำนวณจำนวนในการซื้อค่ะ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. สามารถสอบถามได้ผ่านทาง
      https://www.facebook.com/HugHedFarm/
      เลยครับ

      ลบ
  5. ขอบคุณมากครับอาจารย์ กำลังสนใจจะทำโรงเรือนเพาะเลี้องอยู่ อยากจะไปศึกษาดูงานที่ฟาร์มของอาจารย์ จะอนุญาติให้เข้าเยี่ยมชมไหมครับ

    ตอบลบ

พบกับพวกเราบน facebook