วันจันทร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

เห็ดยานางิ (เห็ดโคนญี่ปุ่น) เห็ดเศรษฐกิจตัวใหม่ ตลาดมีความต้องการสูง

     วันนี้เรามาทำความรู้จักกับเห็ดยานางิ (เห็นโคนญี่ปุ่น) กันก่อนดีกว่า เห็ดยานางิ ปัจจุบันเป็นเห็ดน้องใหม่มาแรง กำลังเป็นที่นิยมของท้องตลาด เนื่องจากมีรสชาติที่อร่อย สามารถทำอาหารได้หลายอย่าง ให้คุณค่าทางอาหารสูงไม่แพ้เห็ดชนิดอื่นๆ ทั้งยังมีสรรพคุณทางยามากมายอีกด้วย เผื่อมีใครอยากจะมาเพาะเห็ดยานางิเพื่อบริโภคเอง หรือเพื่อทำเป็นอาชีพ ลองมาศึกษาดูขั้นตอนการเพาะเห็ดยานางิในบทความนี้กันเลยค่ะ
ปัจจุบันเห็ดยานางิกำลังเป็นที่นิยมของท้องตลาด เนื่องจากมีรสชาติที่อร่อย บริเวณหมวกของเห็ดโคนญี่ปุ่นจะมีความเหนียวนุ่มส่วนขาจะกรอบอร่อยสามารถทำอาหารได้หลายอย่าง ให้คุณค่าทางอาหารสูงไม่แพ้เห็ดชนิดอื่นๆ ราคาของเห็ดโคนญี่ปุ่นในปัจจุบันอยู่ที่กิโลกรัมละ 150-200 บาท ก็ถือว่าเป็นราคาที่ค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับเห็ดทั่วๆไป ปัจจุบันมีคนต้องการบริโภคเห็ดโคนญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับแต่ก่อน ที่ผู้คนยังไม่ค่อยรู้จักเห็ดชนิดนี้จะมีก็แต่ในภัตตาคารชั้นนำแพง ๆ เท่านั้น แต่กำลังการผลิตเห็ดโคนญี่ปุ่นยังน้อยอยู่ ไม่มีผู้นิยมทำกันเนื่องจากคิดว่าเห็ดโคนญี่ปุ่นเป็นเห็ดที่ดูแลรักษายาก ให้ผลผลิตน้อย แต่ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาสายพันธ์ของเห็ดชนิดนี้ขึ้นมาเรื่อย ๆ ทำให้ผลผลิตสูงและง่ายต่อการดูแลรักษา      
     ลักษณะของดอกเห็ดมีสีน้ำตาลอ่อน จนถึงน้ำตาลออกส้ม ก้านดอกสีขาวเนื้อแน่น รสชาติของเห็ดโคนญี่ปุ่นจะเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือจะมีหมวกดอกที่เหนียวนุ่มเหมือนเห็ดหอม แต่บริเวณขาของเห็ดโคนญี่ปุ่นจะกรอบอร่อย เห็ดโคนญี่ปุ่น เป็นเห็ดที่ใช้ประกอบอาหารได้ดีโดยเฉพาะก้านดอกซึ่งมีเนื้อเยื่อยาวและแน่น เวลาเคี้ยว จะได้รสชาติดีคล้ายเห็ดโคน ทำอาหารได้ทั้งผัด ยำ ต้ม และแกง ไม่เสียรูปร่างของเห็ด ให้คุณค่าทางอาหารสูงเช่นเดียวกับเห็ดชนิดอื่นๆ นอกจากนี้แล้ว เห็ดยานางินั้น ยังสามารถเก็บรักษา เอาไว้ในตู้เย็นได้นานกว่า 1 สัปดาห์ โดยที่ยังคงความสด ขนาด รูปร่าง นํ้าหนัก และสีสัน ในสภาพเดิมได้อีกด้วย

     เห็ดยานางิ หรือ เห็ดโคนญี่ปุ่น ตามปกติในธรรมชาติ จะเจริญเติบโตได้ดี ในท่อนไม้ที่ผุ ในต่างประเทศนั้น ได้ทำการศึกษา และวิจัยเห็ด การเพาะเห็ดยานางิ มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2383 จนกระทั่งปี พ.ศ.2517 จึงสามารถเพาะเลี้ยง เห็ดชนิดนี้ได้ โดยทำการเพาะในวัสดุ ที่เป็นส่วนผสมของเมล็ดข้าวโอ๊ต และฟางข้าวสาลี ต่อมาก็เปลี่ยนมาใช้ขี้เลื่อยแทน โดยการเพิ่มอาหารเสริม ที่ช่วยทำให้ เห็ดยานางิ สามารถเจริญเติบโตได้ดี

การเพาะเห็ดยานางิ
      สามารถทำได้ไม่ยาก โดยจะมีวิธีการเพาะเลี้ยง เช่นเดียวกันกับ การเพาะเห็ดในถุงพลาสติก ในเห็ดชนิดอื่น และสามารถเพาะเลี้ยง ได้ตลอดทั้งปีอีกด้วย จึงเป็นเห็ดอีกชนิดหนึ่ง ที่มีแนวโน้มว่าจะกลายเป็น “เห็ดเศรษฐกิจ” ที่มีอนาคตดี อีกชนิดหนึ่งในประเทศไทย

ขั้นตอนและวิธีการสำหรับการเพาะเห็ดยานางิ
การแยกเชื้อเห็ดบริสุทธิ์ และเลี้ยงเส้นใยบนอาหารวุ้น : ขั้นตอนนี้เป็นวิธีการ เตรียมเชื้อเห็ดให้บริสุทธิ์
     โดยใช้เนื้อเยื่อจากดอกเห็ดสด นำมาเลี้ยงให้เจริญเติบโต บนอาหารวุ้น PDA หรือ PDYA (อาหาร PDA เติมด้วยยีสต์ 5 กรัม) ในสภาวะปลอดเชื้อปลอมปน ซึ่งต้องทำภายในตู้ถ่ายเชื้อ ที่ฆ่าเชื้อแล้วเท่านั้น สำหรับดอกเห็ด ที่นำมาแยกเชื้อจากเนื้อเยื่อ ควรคัดเลือกจากสายพันธุ์ ที่ดอกเห็ดมีขนาดใหญ่ แข็งแรง ปราศจากโรค และแมลงทุกชนิด ควรใช้ดอกเห็ด ที่เก็บมาขึ้นใหม่ๆ และยังไม่ถูกนํ้า สำหรับการเจริญเติบโต ของเส้นใยบนอาหารวุ้นนั้น จะเร็วหรือช้า ก็ขึ้นกับสายพันธุ์ของเห็ด โดยปกติแล้ว การเจริญเติบโตบนจานแก้ว ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 เซนติเมตร ที่ระดับอุณหภูมิ 28–30 องศาเซลเซียส จะใช้ระยะเวลา ในการเจริญเติบโต ประมาณ 7–8 วัน

การทำหัวเชื้อ เห็ดยานางิ
     วัสดุสำหรับใช้ทำหัวเชื้อ ที่นิยมกันมากที่สุด คือ เมล็ดข้าวฟ่าง โดยการนำเมล็ดข้าวฟ่าง มาล้างน้ำให้สะอาด แล้วแช่น้ำทิ้งไว้ ไม่น้อยกว่า 8 ชั่วโมง จากนั้นให้นำไปต้ม หรือนึ่งจนกว่าเมล็ดข้าวฟ่าง จะบานประมาณ 15 – 20 % หากใช้การต้ม ให้กรองเอานํ้าออกให้หมด โดยการใช้กระชอนอลูมิเนียม นำไปผึ่งบนกระดาษ พอให้เมล็ดข้าวฟ่างแห้งหมาดๆ แล้วกรองลงในขวดเหล้าชนิดแบน ที่สะอาดและแห้ง ประมาณครึ่งขวด จากนั้นอุดจุกด้วยสำลี หุ้มกระดาษอีกหนึ่งชั้น และรัดด้วยยาง เมื่อเสร็จแล้วให้นำไปนึ่งฆ่าเชื้อ ด้วยหม้อนึ่งความดัน ที่ระดับความดัน 15 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว (อุณหภูมิประมาณ 121 องศาเซลเซียส) เป็นระยะเวลา ประมาณ 30 – 40 นาที หรือจะใช้หม้อนึ่งลูกทุ่ง (ไม่อัดความดัน) ที่ระดับอุณหภูมิ ประมาณ 100 องศาเซลเซียส เป็นระยะเวลา ประมาณ 2 ชั่วโมงก็ได้ หลังจากนั้นแล้ว ให้นำมาทิ้งให้เย็นลง แล้วจึงนำไปเพาะเลี้ยงเชื้อเห็ด ในที่ที่ปราศจากเชื้อปลอมปน โดยใช้เชื้อเห็ดจากอาหารวุ้น ที่เก็บไว้ในระดับอุณหภูมิ 28 – 30 องศาเซลเซียส ระยะเวลาในการเจริญเติบโต จนเต็มขวดของเส้นใยเห็ด จะใช้ระยะเวลา ประมาณ 12 วัน

การทำก้อนเชื้อเห็ดยานางิ

      สูตรอาหารที่ใช้ ในทำก้อนเชื้อ เพื่อใช้สำหรับ การเพาะเห็ดยานางิ นิยมใช้ด้วยกัน 2 สูตรดังนี้สูตรที่ 1 :
-ขี้เลื่อยไม้ยางพารา 100 กิโลกรัม
-รำข้าวละเอียด 6 กิโลกรัม
-แคลเซียมคาร์บอเนต (หินปูน) 1 กิโลกรัม
-ดีเกลือ 0.2 กิโลกรัม
-นํ้าสะอาด 55–65 กิโลกรัม
หากใช้วัสดุเหล่านี้ เมื่อผสมกันให้ดีแล้ว จะมีระดับความชื้นระหว่าง 55–65 % และความเป็นกรด-ด่างระหว่าง 5–7 ก็สามารถใช้บรรจุลงในถุงได้เลย โดยไม่ต้องทำการหมักทิ้งไว้ก่อน
สูตรที่ 2 :
-ฟางข้าวสับขนาด 2 นิ้ว 100 กิโลกรัม
-รำข้าวละเอียด 5 – 8 กิโลกรัม
-แคลเซียมคาร์บอเนต (หินปูน) 2 กิโลกรัม
-นํ้าสะอาด 60 – 65 กิโลกรัม ในสูตรนี้จะต้องหมัก ทิ้งไว้นานประมาณ 8 – 10 วันก่อน โดยให้กลับกองฟางหมัก ทุกๆ 2 วัน จนไม่มีกลิ่นแอมโมเนีย และให้มีระดับความชื้นระหว่าง 60 – 65 % ในการหมักนั้น ให้ทำเช่นเดียวกัน กับการหมักฟางสำหรับ การเพาะเห็ด สกุลนางรมอื่นๆ เช่น การเพาะเห็ดนางรม การเพาะเห็ดนางฟ้า เป็นต้น โดยในวันแรกนั้น จะใช้แบบไม้หมัก

      เมื่อผสมวัสดุเพาะจนเหมาะแล้ว ให้นำก้อนเชื้อมาบรรจุ ลงในถุงพลาสติกทนร้อน ขนาด 7X12 นิ้ว หนา 0.12 มิลลิเมตร โดยให้แต่ละถุง มีนํ้าหนักประมาณ 600–800 กรัม จากนั้นใส่คอขวด ปิดจุกสำลี และหุ้มด้วยกระดาษ หรือใช้ฝาครอบพลาสติก ปิดจุกสำลีกันเปียก แล้วนำไปนึ่งฆ่าเชื้อ ด้วยหม้อนึ่งความดัน ที่ความดันระดับ 15–20 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว นานประมาณ 1–2 ชั่วโมง หากใช้เป็นหม้อนึ่งแบบลูกทุ่ง จะใช้ระยะเวลา ประมาณ 2–3 ชั่วโมง เมื่อได้เวลาแล้ว ให้นำมาทิ้งไว้ให้เย็น จากนั้นจึงใส่หัวเชื้อเห็ด ด้วยการเทเมล็ดข้าวฟ่าง ที่เส้นใยเห็ด เจริญเติบโตปกคลุมอยู่ ลงในถุงอาหารผสม จำนวนถุงละ 15–20 เมล็ด โดยให้ทำในห้อง ที่มีความสะอาด และไม่มีลมโกรก จากนั้นให้นำไปบ่มไว้ ภายในห้องที่มีอุณหภูมิ ประมาณ 25–30 องศาเซลเซียส เส้นใยเห็ดจะเจริญเติบโตเต็มถุง โดยใช้ระยะเวลา ประมาณ 30 วัน หลังจากนั้นให้พักถุงไว้ อีกประมาณ 15 วัน ก่อนจะนำไปเปิดดอก

การทำให้เกิดดอกเห็ดและเก็บเกี่ยว
      เมื่อเส้นใยเห็ดเดินเต็มถุง ย้ายก้อนเชื้อเห็ด ไปยังโรงเรือนเพื่อเปิดดอก อุณหภูมิภายในโรงเรือน ประมาณ ประมาณ 24–30 องศาเซลเซียส และมีระดับความชื้น ประมาณ 75–80 % การเปิดดอกนั้นให้ทำโดยถอดจุกสำลีออก แล้วนำถุงก้อนเชื้อมาวางเรียงไว้บนชั้นเพาะ ในโรงเรือนที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี ทำการรดนํ้าวันละ 2 ครั้ง ในช่วงเช้า-บ่าย ที่ก้อนเชื้อเห็ด และที่พื้นภายในโรงเรือน เพื่อให้คงความชื้น ให้
มีความสมํ่าเสมอ หลังเปิดดอกประมาณ 5-7 วันจะเกิดดอกเห็ด และสามารถนำไปบริโภคได้

การเก็บดอกเห็ด

      ให้เก็บเมื่อกลุ่มดอกเห็ดโตเต็มที่แล้ว โดยระวังอย่าให้แผ่นเยื่อหุ้ม ที่หมวกดอกส่วนล่างขาด สามารถเก็บผลผลิตได้ ประมาณ 5–8 ครั้ง ใช้ระยะเวลา ประมาณ 60–80 วัน โดยจะได้ผลผลิต ประมาณ 100–250 กรัมต่อถุง เมื่อรวมระยะเวลาสำหรับ การเพาะเห็ดยานางิ ตั้งแต่ขั้นตอน การเตรียมเชื้อเห็ดบนอาหารวุ้น จนไปถึงขั้นตอนการเก็บดอกเห็ด ใช้ระยะเวลา ประมาณ 130–145 วัน
 
ปัญหาอุปสรรค
      ปัญหาอุปสรรคของการทำเห็ดยานางิ หรือเห็ดโคนญี่ปุ่นนี้ ก็คือเรื่องของศัตรูเห็ด อันได้แก่ แมลงหวี่ ซึ่งก็จะกินเส้นใยและไข่เป็นตัวหนอน วิธีการป้องกันกำจัดก็คือใช้กาวดัก ปัญหาอีกอย่างหนึ่งก็คือผลผลิตที่ได้ของเห็ดแต่ละก้อนมีการกระจายตัวไม่ดีในรอบปี บางช่วงสูงบางช่วงต่ำ บางฤดูจะมีปริมาณมาก บางฤดูจะมีปริมาณน้อย ซึ่งทำให้มีปัญหาเรื่องการจัดการระบบตลาด
 
การนำไปประกอบอาหาร
      เห็ดโคนญี่ปุ่น สามารถที่จะนำมาประกอบอาหารเหมือนกับเห็ดโดยทั่ว ๆ ไป เช่น แกงเลียงเห็ดโคน ต้มยำเห็ดโคนญี่ปุ่น ยำเห็ดโคนกุ้งสด เส้นแก้ว หรือ วุ้นเส้น ชุบแป้งทอด เห็ดโคนผัดน้ำมันหอย หรือกุ้งสด และทำซาลาเปาไส้เห็ด แต่ถ้าเราจะเก็บเอาไว้บริโภคเองนาน ๆ เราก็ต้องนำมาแปรรูป เช่น
1. นำมาต้มซีอิ๊วหรือดองเค็ม ก็สามรรถที่จะเก็บอาไว้บริโภคได้นานแล้ว
2. นำมาทำเป็นส่วนผสมของน้ำพริกต่าง ๆ เช่นน้ำพริกเผาเห็ดโคนญี่ปุ่น และที่สำคัญเป็นอาชีพของ
สมาชิกกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรด้วย
3. นำมาแปรรูปเป็นเห็ดหย็อง เก็บไว้บริโภค ได้นาน และมีรสชาติอร่อยคงเดิม

คุณค่าทางอาหาร
-ดอกสด 100 กรัม
-ให้ความชื้น 89.90
-โปรตีน 2.73
-ไขมัน 0.048
-คาร์โบไฮเดรต 5.08
-เยื่อใย 0.487
-เถ้า 0.677
-แคลเซี่ยม 6.44
-เหล็ก 1.60
-ฟอสฟอรัส 83.56
-วิตามินบี 1 0.006
-วิตามินบี 2 0.15
-ไนอาซิน 3.11

สรรพคุณทางยา

-ต้าน และ ป้องกันมะเร็ง ลดไขมัน และโคเลสเตอรอลในเลือด
-ช่วยล้างพิษที่สะสมในตับพิษพวกอนุมูลอิสระ อัลฟาท็อกซิล
-ทำให้ตับแข็งแรง สามารถทำงานได้ดีขึ้น ทำให้อารมณ์ดี การสร้างเม็ดเลือดแดงดี


ขอขอบคุณที่มาบทความ และรูปภาพ
- นางดวงภรณ์ โตอนันต์ | นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ
-http://www.ifarm.in.th/index.php?option=com_content&view=article&id=106:honey-mushroom&catid=46:mushroom&Itemid=198
-http://www.thaigreenagro.com/aticle.aspx?id=7062
-การเพาะเห็ด.com/การเพาะเห็ดยานางิ/
-www.chinfarm.com/yanangi.html
-www.oknation.net/blog/banklangtung/2012/06/25/entry-1
-www.kasetporpeang.com/forums/index.php?topic=17996.0

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

พบกับพวกเราบน facebook