วันเสาร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2558

คิดถึงก้อนเห็ดคุณภาพดี คิดถึง "ฟาร์มเห็ด ชุติมา"

     สวัสดีครับ วันนี้พวกเราชาว HugHed ได้มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมชมฟาร์มเห็ด และสัมภาษณ์เจ้าของฟาร์มเห็ดชื่อดังในจังหวัดลำพูน  "ฟาร์มเห็ดชุติมา" ฟาร์มตั้งอยู่ใน อ.ป่าซาง จ.ลำพูน  เจ้าของฟาร์มคือ พี่พิพัฒน์พงศ์ แก้วนิล (พี่เปี๊ยก) ฟาร์มเห็ดแห่งนี้ผลิตเห็ดแบบครบวงจร หลากหลายสายพันธุ์ พี่เปี๊ยกมีเคล็ดลับในการทำเห็ดอย่างไรให้ประสบความสำเร็จเราไปดูกันเลยครับ ^__^



HugHed : พี่เปี๊ยกทำฟาร์มเห็ดมากี่ปีแล้วครับ
พี่เปี๊ยก : เริ่มทำฟาร์มเห็ดมาตั้งแต่ปี 2531 โดยช่วงแรกทำก้อนเห็ดโดยใช้ฟางหมัก

HugHed : ก่อนหน้าที่จะมาทำฟาร์มเห็ด พี่เปี๊ยกทำอะไรมาก่อนครับ
พี่เปี๊ยก : ก่อนหน้าที่จะทำฟาร์มเห็ดพี่ได้ทำเกษตรทั่วไป ปลูกข้าวโพด เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่  นกกระทา เริ่มทดลองเพาะเห็ดปี 2529 แล้วมาเริ่มทำฟาร์มเห็ดเต็มตัวปี 2531

HugHed : ในช่วงแรกที่ทำฟาร์มเห็ด พี่เปี๊ยกเอาก้อนเห็ด หรือเชื้อเห็ดมาจากไหนครับ 
พี่เปี๊ยก : ในช่วงแรกพี่ทำก้อนเห็ดเอง เพราะสมัยก่อน ไม่มีใครทำก้อนเห็ด หรือเชื้อเห็ดจำหน่ายเลย

HugHed : เริ่มแรกพี่เปี๊ยกเพาะเห็ดอะไรบ้างครับ
พี่เปี๊ยก : ในช่วงแรกเพาะเห็ดนางฟ้าภูฐาน โดยได้รับการอนุเคราะห์จากอาจารย์สมาน ซึ่งเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตอนนี้เพาะเห็ดนางรมฮังการี นางฟ้าภูฐาน เป๋าฮื้อ หูหนู เห็ดลมป่า ครับ

HugHed : ช่วงแรกที่ทำฟาร์มเห็ด ลักษณะโรงเรือนของพี่เปี๊ยกเป็นแบบไหนครับ
พี่เปี๊ยก : ยุคแรกหลังคา และด้านข้าง จะมุงจาก  เสาใช้ไม้ไผ่ ซึ่งจะอยู่ได้ 3 ปี ปีที่ 4 เริ่มจะพัง ตอนนี้เหลือโรงไม้ไผ่ไม่กี่โรง และมีโรงเรือนที่คลุมด้วยพลาสติกกับแสลนด้วย 

HugHed : ตอนนี้พี่เปี๊ยกเริ่มเปลี่ยนโรงเรือนมุงจาก มาใช้สแลนได้กี่ปีแล้วครับ
พี่เปี๊ยก : 10 กว่าปีแล้วครับ พลาสติกแสลน จะอยู่นานเกิน 3 ปี มันอยู่ 5 ปีได้ ใส่เห็ดได้หลากหลายกว่า  แต่ถ้าเรามุงคามันจะใส่ได้กับนางฟ้าภูฐาน และนางรมฮังการี  ถ้ามุงพลาสติกเราสามารถใส่เป๋าฮื้อ ลมป่าได้ด้วย เราจะต้องดูด้วยว่าช่วงไหนควรใส่เห็ดชนิดไหน บางคนมาเห็นฟาร์มมุงพลาสติก กลับไปทำโรงพลาสติกเอาไปใส่นางฟ้าภูฐาน ช่วงหน้าร้อนนี่ไม่ได้เลย เคยไปเห็นเพื่อนทำเห็ดลมป่า เราก็เอาไปใส่ในโรงหญ้าคาเห็ดไม่ออกเลย   มีโรงเรือนมุงด้วยหญ้าคา เอาพลาสติก และแสลนคลุมอีกที 3 ชั้นเลย เป็นเห็ดนางรมฮังการี นางฟ้าภูฐาน ความเย็นจะต่างกัน โรงแบบนี้สร้างขึ้นเพื่อลองทดสอบว่าเห็ดนางรมฮังการี และนางฟ้าภูฐาน มันสามารถผ่านช่วงฤดูร้อนได้มั้ย ได้ผลสรุปว่า คุณควรทำเห็ดในฤดูมันดีกว่า ถึงลงทุนไปมันก็ไม่คุ้ม

HugHed : ที่ฟาร์มจำหน่ายอะไรบ้างครับ 
พี่เปี๊ยก : หัวเชื้อเห็ด ก้อนเห็ด และดอกเห็ดครับ ก้อนเห็ดนางฟ้าภูฐาน นางรมฮังการี ที่นี่ขายก้อนละ 5.50 บ.เพราะอยากให้คนมือใหม่ไปต่อให้ได้ อยากให้เขาเอาไปคืนทุนให้ได้ ส่วนมากมือใหม่มักจะคิดถึงแต่เรื่องกำไรทันที บางคนก้อนหนึ่งถ้าผลผลิตแต่ละรอบออกมาได้ 2-3 ขีด ก็ถือว่าเก่งแล้วนะ ถ้า 3 ขีดก็อาจจะได้ช่วงเดือน ตค.-ธค. ก้อนหนึ่งอยู่ได้ประมาณ 3 เดือน

HugHed : มีบางคนที่ซื้อก้อนเห็ดเราไปแล้วมีปัญหาไหมครับ
พี่เปี๊ยก : มีบางเจ้าที่ซื้อก้อนเราไป แล้วมันไม่ออก ก็จะโทรมา หรือไลน์มาถามบ้างว่าทำไมมันไม่ออก เราก็ต้องชี้แจงไป ว่าบางทีอากาศแปรปรวน ไม่นิ่ง อุณหภูมิถ้าต่างกัน 10 องศาเซลเซียสขึ้นไป  เห็ดแต่ละตัวจะไม่ค่อยออกดอก แต่ถ้าพวกเห็ดลมป่า อุณหภูมิยิ่งต่างกันมันยิ่งชอบ ต่ำสุด 26-27 องศาเซลเซียส  สูงไม่เกิน 38 องศาเซลเซียส  ส่วนพวกนางรมฮังการี นางฟ้าภูฐาน มันก้ำกึ่ง เลยทำให้ผลผลิตแต่ละฟาร์มจะออกน้อย จะออกดีเฉพาะรุ่นแรก เพราะสะสมอาหารเต็มที่ รุ่นสองกว่าจะออกนานมาก ก็จะโทรมาถามอีกกี่วันจะออก มันก็ขึ้นอยู่กับอากาศด้วย ปกติประมาณ 7-10 วัน ก็จะเริ่มออก ถ้าอากาศปกติ ระหว่างที่เขาไม่ออกดอก บางคนดูแลไม่เป็น เราก็ต้องดูแลเรื่องโรค แมลงด้วย ส่วนมากเจอแมลงหวี่ ราเขียว บางคนเอาก้อนไปไว้ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม มันก็ไม่ออก มันต้องเข้าใจเห็ดว่ามันต้องการอุณหภูมิ ความชื้น เท่าไหร่ บางคนติดหัวพ่นหมอก พ่นเยอะความชื้นเกิน ดอกออกมาฉ่ำ น้ำเกินเหี่ยวตาย บางคนไม่ค่อยใส่ใจเท่าไหร่ บางครั้งก็พูดเล่นๆไปเหมือนเพลง ไม่ใช่เอาไปฝากเจ้าที่ดูนะครับ เดี๋ยวมันก็ออกเอง 555 บางคนอยู่หอ ทำงานเช้า เย็นกลับ แต่กลางวันเห็ดเป็นยังไงไม่รู้
 
HugHed : ถ้าคนที่ทำเป็นแล้ว เขาก็จะไม่ค่อยมีปัญหาแล้วใช่ไหมครับ
พี่เปี๊ยก : ถ้าทำเป็นแล้วส่วนใหญ่เขาไม่ค่อยเพาะเห็ดนางฟ้าภูฐานเท่าไหร่ ส่วนมากมือใหม่ จะแนะนำให้เพาะเห็ดนางรมฮังการีก่อน เพราะจะดูแลง่ายกว่าทนโรคแมลงกว่า มีช่วงเดือนเมษายน ชาวบ้านมักจะโทรมาถาม มีเห็ดนางฟ้าภูฐานมั้ย  เราก็แนะนำนำไป อากาศมันร้อนนะ เห็ดมันจะเหี่ยว ก็แนะนำให้ทำเห็ดนางรมฮังการี เพราะถ้าพูดถึงเห็ดนางรมฮังการี กับนางฟ้าภูฐาน ถ้าทำจนหมดอายุขัยในช่วงฤดูที่ออกดีเหมือนกันนะ ผลตอบแทนจะสู้นางรมฮังการีไม่ได้ นางรมฮังการีจะได้ผลตอบแทนเยอะกว่า

HugHed : ราคากิโลกรัมละเท่าไหร่ครับ ต่างกันไหมครับ
พี่เปี๊ยก : นางรมฮังการีราคาถูกกว่า 5 บ. นางฟ้าภูฐานราคาสูงกว่า 5 บ. ต่างแค่ 5 บ. แต่ผลตอบแทนฮังการีได้เยอะกว่า เลี้ยงง่ายกว่า นางฟ้าภูฐานจะอ่อนแอ ขี้โรค

HugHed : พี่เปี๊ยกเคยเปิดดอกเห็ดนอกฤดูหรือเปล่าครับ 
ภาพในโรงเรือนฟาร์มเห็ดชุติมา
พี่เปี๊ยก : เราเคยลองเปิดดอกเห็ดลมป่า ซึ่งมันจะออกช่วงเดือน ตค.– พย.ทุกปี เราต้องชิงเปิดก่อนเพื่อแย่งราคา เพราะราคาส่งแม่ค้ากิโลกรัมละ 150 บ. เลยทำให้คนทั่วไปอยากเพาะ ถ้ามือใหม่ยังไม่อยากแนะนำให้เพาะ เพราะยังไม่ได้เรียนรู้นิสัยของเขาดีพอ เขาชอบยังไง ถ้าเกิดมันไม่ออกเราจะทำยังไง ส่วนใหญ่มือใหม่มักคิดว่า เปิดเดี๋ยวมันก็ออก ทำได้ตลอดปี แต่ผลผลิตในช่วงแต่ละเดือนของปี มันจะต่างกัน ที่ฟาร์มนี้เน้นเพาะเห็ดตามฤดูกาล จะเน้นในช่วงฤดูที่เห็ดออกจริงๆ  เพราะเห็ดจะออกเยอะกว่า และดูแลได้ง่ายกว่า 


HugHed : พี่เปี๊ยกมีการจดบันทึกด้วยไหมครับว่าแต่ละเดือน เห็ดอะไรออกบ้าง
พี่เปี๊ยก : ใช่ครับ เพราะเราทำระยะเวลายาวนาน เรารู้วัฏจักรของมัน ช่วงไหนควรเน้นทำเห็ดชนิดไหน     
ภาพเห็ดหูหนู
HugHed : เห็ดแต่ละชนิดทำช่วงฤดูไหนบ้างครับ
พี่เปี๊ยก : เห็ดนางรมฮังการีทำได้ทุกฤดู แต่ช่วงอากาศร้อน ประมาณเดือน มีนาคม-พฤษภาคม จะไม่ค่อยออก เดือนมีนาคม –พฤษภาคม ช่วงร้อนๆต้องเพาะเห็ดลมป่า

HugHed : ที่ฟาร์มนี้ใช้ขี้เลื่อยอะไรในการทำก้อนเห็ดครับ
พี่เปี๊ยก : ขี้เลื่อยไม้ยางพาราครับ


HugHed : พี่เปี๊ยกสั่งจากไหนมาครับ 
พี่เปี๊ยก : สั่งมาจากใต้ แต่เป็นรถจากทางเหนือเรา ไปส่งของที่ภาคใต้ ขากลับก็ขนขี้เลื่อยมาให้ บางช่วงขี้เลื่อยก็หายาก ช่วงฤดูฝนทางใต้ ประมาณต้นเดือน สค. - กย ของทุกปี เราจะสต๊อคไว้ก็ไม่ได้ มันจำกัดพื้นที่เราด้วย เราต้องมีโรงเก็บขี้เลื่อย โรงต้องแห้ง เคยสั่งมาเก็บไว้เชื้อราขึ้นอีก มันชื้น อย่างมากก็เก็บไว้ได้แค่สองเดือน  บางทีเขาจะเอาขี้เลื่อยไม้ยาง ที่ผ่านการอบฆ่าเชื้อ หรือแช่น้ำยาเพื่อกันเชื้อรา  เรียกว่าขี้เลื่อยไม้อบ มาให้เรา เราจะดูไม่ออกเลย มันจะปนมากับขี้เลื่อยไม้สด หยอดเชื้อลงไปเชื้อไม่เดิน หรือเดินเว้าๆแหว่งๆทั้งหมดเลย ซึ่งพอเราผลิตก้อนออกมาถึงจะรู้ ก็ต้องเอาทิ้ง หรือเอาไปทำปุ๋ยเลยเพราะมันชื้น

HugHed :  ขี้เลื่อยลำรถหนึ่ง สามารถทำก้อนเห็ดได้กี่ก้อนครับ
พี่เปี๊ยก : ประมาณ 18,000-20,000 ก้อน

HugHed : พี่เปี๊ยกเคยใช้ขี้เลื่อยจากไม้อื่นบ้างไหมครับ
พี่เปี๊ยก : เคยใช้ขี้เลื่อยจากไม้ฉำฉา ไม้มะขาม ไม้มะม่วง ซึ่งผลผลิตจะไม่ค่อยดี ก่อนนำมาใช้ต้องผ่านกระบวนการหมักก่อน ซึ่งจะเสียเวลาหมัก

HugHed : ราคาของขี้เลื่อยแต่ละชนิดต่างกันมากไหมครับ
พี่เปี๊ยก : ราคาต่างกันประมาณ ครึ่งๆ ไม้ยางพาราคันรถ 10 ล้อ ราคาประมาณ 28000-30000 บ. ถ้าไม้ฉำฉาประมาณหมื่นกว่านิดๆ

HugHed : ตั้งแต่พี่เปี๊ยกทำก้อนเห็ดจำหน่าย พี่เปี๊ยกต้องระวังเรื่องอะไรบ้างครับ
พี่เปี๊ยก : คุณภาพของขี้เลื่อย ระยะเวลานึ่ง ความสม่ำเสมอ และความต่อเนื่องของเชื้อเพลิงขณะที่นึ่งด้วย

HugHed : หัวเชื้อเห็ด  พี่เปี๊ยกทำเองเลยหรอครับ
พี่เปี๊ยก : ทำเองครับ ยกเว้นว่าถ้าเชื้อเราเริ่มอ่อน เราต้องไปขอดอกเห็ดจากฟาร์มอื่นมา เราต้องมั่นใจในฟาร์มอื่นด้วย หรือ ถ้าเราไปเที่ยวฟาร์มอื่น ดูดอกเห็ดออกดี ขอซื้อก้อนมาเปิดเอง ถ้าออกดอกโอเค เราก็เอาเป็นแม่พันธุ์เลย

HugHed : พี่เปี๊ยกใช้เชื้อแบบไหนครับ
พี่เปี๊ยก : ใช้เชื้อข้าวฟ่าง ลูกน้องบางคนหยอดเชื้อทำไม่ค่อยเป็น ทำช้า ทำให้บางทีมีโอกาสปนเปื้อนราเขียวมีสูง ส่วนมากก็ตัดเนื้อเยื่อเลี้ยงเอง จะตัดจากวุ้นแค่ 5 ครั้ง แล้วเริ่มดอกสด เชื้อจะได้ไม่อ่อนแอ

HugHed : ที่นี่มีคนงานกี่คนครับ
พี่เปี๊ยก : ช่วงนี้มีอยู่ 24 คน หมุนเวียนหน้าที่กันทุก 5 วัน

HugHed : ที่นี่มีเชื้อเห็ดอะไรขายบ้างครับ
พี่เปี๊ยก : เห็ดลมป่า นางรมฮังการี นางฟ้าภูฐาน ขวดละ 8 บ. ส่วน เห็ดเป๋าฮื้อ กับเห็ดหูหนูขวดละ 10 บ.

HugHed : อัตราการผลิตก้อนที่ ฟาร์มนี้ สูงสุดได้กี่ก้อนครับ
พี่เปี๊ยก : ประมาณ 5000 ก้อนต่อวัน

HugHed : เรื่องสูตรอาหารที่ใช้ในการทำก้อน ใช้สูตรอะไรครับ 
พี่เปี๊ยก : เห็ดแต่ละชนิดเหมือนกันหมดยกเว้นเห็ดลมป่า ที่ฟาร์มจะใส่แร่ม้อนเพิ่มขึ้นมาอีก สูตรแต่ละฟาร์มแล้วแต่ความเหมาะสมกับแต่ละแห่งด้วย ที่นี่ก็จะผสมขี้เรื่อย รำ แร่ม้อนท์ ยิปซัม แคลเซียม ดีเกลือ เห็ดลมป่าจะไม่ใส่ดีเกลือ เราจะไม่เร่งให้เส้นใยเดินเร็ว เพราะถ้ากินไวก้อนจะนิ่ม ทำให้เปิดดอกไม่ค่อยดี หน้าก้อนจะยุ่ย


HugHed :  เตานึ่ง นึ่งได้ครั้งละกี่ก้อนครับ
พี่เปี๊ยก : 4200 ก้อนครับ เตานึ่งมีตัวกำเนิดไอน้ำ มีท่อผ่านเข้าไปในห้องอีกที ได้หม้อต้มไอน้ำที่ร้านขายของเก่า ซึ่งเป็นหม้อต้มไอน้ำทรงแนวตั้ง มันเป็นรุ่นเก่า โดยที่ฐานข้างล่างเราทำใหม่ สร้างฝาขึ้นมาใหม่ ยุคแรกทดลองเป็นผนังปูน มันดูดความร้อนไปหมด อุณหภูมิไม่ถึง เลยเปลี่ยนเป็นแผ่นเหล็กบุหมดเลย  พี่นึ่งก้อนเห็ดทุกชนิดใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมงครึ่ง



HugHed : เครื่องขนาดใหญ่นี้คือเครื่องอะไรครับ  
เครื่องตีก้อน ที่พี่เปี๊ยกประกอบเอง
พี่เปี๊ยก : เครื่องคัดแยกขี้เลื่อยออกจากถุงพลาสติก เครื่องนี้ไม่มีขายนะครับ พี่ทำขึ้นมาเองครับ ได้แนวคิดมาจากอาจารย์มนัส ธรรมแสง โดยที่พี่ดัดแปลงมาจากเครื่องทำลายก้อนเห็ดเก่าเพื่อเอาไปทำปุ๋ยหมักของอาจารย์อีกที


HugHed : ระยะเวลาการเดินเชื้อของเห็ดแต่ละชนิดต่างกันไหมครับ
พี่เปี๊ยก : โดยปกติจะใกล้เคียงกัน เห็ดลมป่าใช้เวลา 1 เดือน เห็ดนางฟ้าภูฐาน และนางรมฮังการีใช้เวลาประมาณ 20-25 วัน ส่วนเห็ดหูหนูใช้เวลาประมาณ 30-45 วัน และเห็ดเป๋าฮื้อ ใช้เวลาประมาณ 60 วัน

HugHed : อุณหภูมิมีผลกับการเดินเชื้อไหมครับ
พี่เปี๊ยก : มีผลต่อการเดินเชื้อ โดยที่อุณหภูมิไม่ควรต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส และอย่าให้เกิน 40 องศาเซลเซียส แต่อุณหภูมิที่เหมาะสมควรอยู่ในช่วง 25-35 องศาเซลเซียส โรงบ่มก้อนเห็ดอุณหภูมิอย่าให้ร้อนจนเกินไป อากาศถ่ายเทสะดวก เพดานของโรงบ่มก้อนควรที่จะกันความร้อนได้ ถ้าอุณหภูมิร้อนเกินไป เชื้อเห็ดจะเดินช้า


โรคที่เกิดกับเห็ดลม
HugHed : ตั้งแต่เปิดดอกเห็ดลมป่ามาเจอปัญหาอะไรบ้างครับ
พี่เปี๊ยก : เห็ดลมป่าจะเจอโรคสนิม

HugHed : มันเกิดจากอะไรครับ
พี่เปี๊ยก : เกิดจากเชื้อแบคทีเรียตัวหนึ่งที่จะเกิดกับโรงเรือนที่เพาะเห็ดมานาน แบคทีเรียตัวนี้มันจะอยู่ในโรง ชอบเกิดกับเห็ดลมป่า เห็ดอื่นไม่ค่อยเจอ เราเลยต้องผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเอาเห็ดตัวอื่นมาใส่ ช่วงร้อนก็เอาเห็ดลมป่ามาใส่ ช่วงฝนก็นางรมฮังการี นางฟ้าภูฐาน เพื่อตัดวงจรการเกิดโรคสนิม

HugHed : ทำไมดอกเห็ดนางฟ้าภูฐานมันงอแบบนี้ครับ   
นางฟ้าภูฎานในสภาพอากาศที่ต่างกันเกิน
พี่เปี๊ยก : เป็นลักษณะ ของเห็ดที่อยู่ใน  อุณหภูมิต่างกัน 10 องศาเซลเซียสขึ้นไป นางฟ้าภูฐานมันจะไวต่ออากาศ ถ้าบางก้อนเชื้อเห็ดไม่แข็งแรงมันจะออกอาการอย่างนี้

HugHed : พี่เปี๊ยกรดน้ำเห็ดยังไงครับ
พี่เปี๊ยก :  ใช้สายยางฉีดน้ำผ่านหน้าก้อนไปเลย เคยลองใช้หัวพ่นหมอกตอนแรกๆที่เริ่มทำฟาร์มแล้ว  แต่ตอนนี้ทางฟาร์มได้ยกเลิกใช้ไปแล้ว เนื่องจากต้องมีระบบกรองน้ำให้สะอาดทั้งระบบเพื่อไม่ให้เกิดตะกันอุดตันที่หัวพ่นหมอก ซึ่งต้องล้างและหมั่นเปลี่ยนไส้กรองอยู่บ่อยๆจึงจะทำให้มีค่าใช้จ่ายตามมาอีกจำนวนมาก สำหรับเครื่องทำไอหมอกก็ยกเลิกใช้ไปแล้วเช่นกัน เนื่องจากความชื้นที่ได้ให้ไม่เพียงพอเท่าการรดแบบสายยาง ให้เหมาะใช้เป็นตัวเสริมให้ความชื้นอยู่ได้นานขึ้น

ตัวทำไอหมอก
HugHed :  เปรียบเทียบระหว่างการรดน้ำหน้าก้อน กับการใช้หัวพ่นหมอกทำความชื้น ความชื้นในโรงเรือนแตกต่างกันหรือเปล่าครับ
พี่เปี๊ยก :  ต่างครับ ตัวทำไอหมอกจะทำให้ความชื้นอยู่ได้นานขึ้นถ้าใช้มันเป็นตัวเสริมจากการรดน้ำด้วยสายยาง แต่ถ้าใช้แค่เครื่องทำไอหมอกทำความชื้นในโรงเรือนอย่างเดียวเป็นไปไม่ได้ ที่ให้ความชื้นได้เพียงพอ ตัวไอหมอกจะผลิตหมอกเหมือนช่วงฤดูหนาวที่มีหมอกลงตอนเช้า แต่พอช่วงฤดูที่มีอากาศร้อนหมอกที่ออกมาจะหายเร็วมากซึ่งอาจไม่คุ้มทุนได้ถ้าใช้แค่เครื่องทำไอหมอก อย่างไรก็ตามการรดน้ำหน้าก้อนแบบทั่วไปยังถือว่าเป็นพื้นฐานที่ดีครับ

     วันนี้พวกเราชาว HugHed ต้องขอขอบคุณพี่เปี๊ยกเป็นอย่างสูงที่ได้เสียสละเวลามาแบ่งปันความรู้ และคำแนะนำในเรื่องของการเพาะเห็ด รวมถึงแนวคิดดีดีที่สามารถนำไปใช้ในการทำเห็ด สำหรับมือเก่าและมือใหม่ที่อยากจะปรึกษาเรื่องการเพาะเห็ดสามารถติดต่อ สอบถามได้ที่ฟาร์มเห็ดชุติมา หรือทางเฟสบุ๊ค https://www.facebook.com/ChutimaMushroomFarm ได้เลยนะครับ ^__^

1 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณสำหรับบทความครับ มีประโยชน์มากเลยครับ

    ตอบลบ

พบกับพวกเราบน facebook