วันอังคารที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

วิเคราะห์โรงเรือน สกายฟาร์มเห็ด 21-23 กรกฎาคม พ.ศ.2558

     กลับมาอีกครั้ง สำหรับบทวิเคราะห์โรงเรือนในครั้งนี้เรายังอยู่กับ สกายฟาร์มเห็ด ของพี่ดาว โดยในครั้งนี้เราได้ทำการปรับปรุง "เครื่องบันทึกข้อมูลอุณหภูมิ และความชื้น"(ต่อไปนี้ขอเรียกว่า datalogger) ให้ใช้พลังงานจาก เพาเวอร์แบงค์ โดยในวันที่ติดตั้งนั้นเรียกว่า ปรับโปรแกรมกันจนวินาทีสุดท้าย โดยก่อนหน้านั้นเราคาดการณ์กันว่า พาวเวอร์แบงค์จะทำให้เครื่องเราทำงานได้อยู่ราว ๆ 2 วัน ส่วนผลจะเป็นอย่างไรไปดูกันเลยครับ

   
     ในการแสดงกราฟในครั้งนี้เราได้ทำการ กำหนดค่าช่วงของแกน y(อุณหภูมิ) ให้อยู่ในช่วง 20 ถึง 45 องศาเซลเซียส และ กำหนดค่าช่วงของแกน y(ความชื้นสัมพัทธ์) ให้อยู่ในช่วง 40 ถึง 95 เปอร์เซนต์ ทุกกราฟ รวมไปถึง กราฟของ สุภาศรีฟาร์ม ด้วยเพื่อให้มองกราฟเป็นมาตรฐานเดียวกัน (ควรดูช่วงของแกนทุกครั้งก่อนอ่านกราฟด้วย)
     เราได้เลือกติดตั้ง datalogger ไว้กลับโรงเรือนที่พี่ดาวกำลังจะทำการเปิดดอกพอดี (ตามรูปแรก โรงซ้ายสุด) โดยการติดตั้งได้เลือกตำแหน่งเหนือชั้นวางก้อนเห็ด บริเวณกลางโรงเรือน
-----------------------------------------------------------------------
วัสดุหลังคา : ทำจากแผ่นยางสีดำ ซ้อนทับกัน
ล้อมรอบโรงเรือนด้วย : แสลนสีเขียว, ดำ 1 ชั้น (ดูภาพประกอบ)
ระบบการให้น้ำ : หัวมินิสปริงเกอร์ แบบหัวฉีดสเปรย์ 360 องศา (สีส้ม)
รายละเอียดอื่น ๆ : เปิดช่องสามเหลี่ยมใต้หลังคา



     วันที่เราเข้าไปเก็บเครื่องพี่ดาวได้เล่าให้ฟังว่า เครื่องดับไปเมื่อ 2 วันก่อน เราจึงรีบตรวจสอบว่า ข้อมูลที่ได้มาทั้งหมดจะพอครอบคลุมได้ทุกสถานการณ์หรือไม่ ผลปรากฏว่า ได้มาทั้งหมด 3 วันโดยรายละเอียดเป็นดังนี้

วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ.2558 : เป็นวันแรกที่เข้าไปติดตั้งเวลา 11.21 น. เป็นต้นไป
วันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ.2558 : วันที่สองของการติดตั้ง เก็บได้ตลอดทั้งวัน และเป็นวันฝนตกและฟ้าครึ้มทั้งวัน
วันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ.2558 : วันที่สามของการติดตั้ง แบตหมดเวลา 07.36 น.

ไปดูกราฟกันเลยครับ
สกายฟาร์มเห็ด วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ.2558  11.21 น. - 23.59 น.
   สำหรับในวันแรก เราได้เข้าไปติดตั้งเวลาประมาณ 11 นาฬิกา ซึ่งในขณะที่เรากำลังติดตั้ง datalogger นั้น เป็นเวลาเดียวกับที่ฟาร์มพี่ดาวกำลังจะเปิดดอกเห็ด ทำให้ต้องเปิดแสลนหน้าโรงเรือนทิ้งไว้ ทำให้ความชื้นสัมพัทธ์ที่ได้ในช่วงแรก ค่อยๆ ลดต่ำลงจนกระทั่งเวลาประมาณ 16.30 น. ความชื้นค่อย ๆ เพิ่มขึ้น และอุณหภูมิก็ค่อย ๆ ลดลง
     สอบถามจากพี่ดาวได้ว่าในวันนั้น ช่วงเวลาที่ความชื้นค่อยๆเพิ่มขึ้นเป็นเวลาเดียวกับที่ ได้ทำการเปิดดอกเสร็จและทำการรดน้ำและปิดโรงเรือน

สภายฟาร์มเห็ด วันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ.2558
     ในวันที่สองปรากฏว่าฝนได้ตกตลอดวันแต่ลดปริมาณลงช่วง กลางวัน แต่ฟ้ายังครึ้มทั้งวัน ความชื้นคงที่อยู่ที่ประมาณ 90 เปอร์เซนต์ ตั่งแต่ช่วงเที่ยงคืนจนถึง 9 โมงเช้า ค่อยๆ ปรับตัวลดลงจนต่ำสุดที่ 54.78 เปอร์เซนต์ ที่เวลา 14.27 น. จากนั้นความชื้นเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันเวลา 16.53 น. จาก 60 เปอร์เซนต์ ไปอยู่ที่ 84 เปอร์เซนต์ และปรับลงเล็กน้อยก่อนเพิ่มขึ้นไปที่ 90 และคงที่อยู่อย่างนั้นจนถึงเที่ยงคืน
     พี่ดาวบอกว่าวันนี้ตอนเช้าไม่ได้ให้คนงานรดน้ำ ส่วนความชื้นเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน อาจจะเกิดจากการรดน้ำ บวกกับฝนตกในตอนเย็นเพิ่มขึ้นอีก ในขณะที่ทาง HugHed นั่งคุยกับพี่ดาวก็ได้ความว่าควรจะเพิ่มรอบการรดน้ำในเวลาบ่ายอีกรอบ จากที่รดช่วงเช้าและเย็น

สกายฟาร์มเห็ด วันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ.2558  00.00 น. - 07.36 น. 

     ในวันที่สาม datalogger แบตหมด!!! ก่อนที่จะได้เก็บข้อมูลในเวลากลางวัน แต่ก็ได้ช่วงเที่ยงคืนจนถึง 7 โมงเช้า ทำให้ได้เห็น ความชื้นและอุณหภูมิในช่วงเช้าของวันที่ความชื้นสูง และอุณหภูมิต่ำ ในหน้าฝน
     ในครั้งนี้ที่เราได้ไปสัมภาษณ์ฟาร์มพี่ดาว นอกจากที่เราจะได้ความรู้ในการทำเห็ดเพิ่มขึ้นแล้ว เรายังได้พัฒนาในงานส่วนที่สนใจ คือ เราต้องพัฒนาตัวเก็บข้อมูลให้ได้นานกว่านี้เพื่อสามารถได้ข้อมูลที่เป็นระยะยาวกว่านี้ ในครั้งหน้า เครื่องเราจะอยู่ได้นานแค่ไหน และจะได้ไปวิเคราะห์โรงเรือนที่ฟาร์มไหน รอลุ้นกันครับ
     ขอขอบคุณเจ้าของสกายฟาร์มเห็ด พี่ดาว ผู้ที่ไม่หยุดเรียนรู้ในการทำเห็ด มา ณ ที่นี้ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

พบกับพวกเราบน facebook