วันอาทิตย์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2558

เห็ดหอมในโรงเรือนกึ่งถาวรที่ "ปรีชาฟาร์ม 99"

     สวัสดีครับ บทสัมภาษณ์วันนี้ เป็นบทสัมภาษณ์จากพี่แอ๋ม ซึ่งเป็นเจ้าของปรีชาฟาร์ม 99 ฟาร์มเห็ดแห่งนี้ตั้งอยู่ที่ ต.หนองจ๊อม อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ พี่แอ๋มได้พาพวกเราไปชมฟาร์มเห็ดหอมซึ่งลักษณะของโรงเรือนที่นี่ได้ออกแบบเป็นโรงเรือนกึ่งถาวร  รวมถึงวิธีการเพาะเห็ดหอม พี่แอ๋มมีเคล็ดลับในการทำเห็ดอย่างไรบ้าง เราไปดูกันเลยครับ ^__^
HugHed : พี่แอ๋มทำฟาร์มเห็ดมานานกี่ปีแล้วครับ 
พี่แอ๋ม : ตอนแรกเลย สามีพี่ (อาจารย์ปรีชา รัตนัง) แกเริ่มทำมาก่อนตั้งแต่ปี 2533 ก็ทำกันเรื่อยมา ล้มลุกคลุกคลานกันมา เจอปัญหาสารพัด แต่พี่มาเริ่มทำฟาร์มเห็ดจริงจังตั้งแต่ปี  2540 เพราะเมื่อก่อนพี่ทำงานเป็นนักวิชาการการเกษตรที่ศูนย์วิจัยพืชไร่ จ.นครสวรรค์ มาก่อน ยังไม่ได้บรรจุ เกือบแล้วแหละ อาจารย์แกก็บอกว่าไม่ต้องรอ ให้ออกมาทำเห็ดเลย พี่ก็ลาออกจากงาน แล้วมาเริ่มเพาะเห็ด ซึ่งครั้งแรกที่ทำก็กู้เงินจาก ธกส.   มาหนึ่งแสนบาท


HugHed : ที่ฟาร์มเพาะเห็ดอะไรบ้างครับ
พี่แอ๋ม : พี่จะเปิดดอกเฉพาะเห็ดหอมอย่างเดียว ส่วนเห็ดพวกสกุลนางรมพี่จะไม่เปิดดอก  แต่จะรับทำก้อนเชื้อเห็ดตามออร์เดอร์ลูกค้าอย่างเดียว

HugHed : ที่นี่เพาะเห็ดหอมพันธุ์อะไรบ้างครับ
พี่แอ๋ม : เป็นพันธุ์ดอกเล็ก และดอกใหญ่
HugHed :  ฟาร์มนี้มีโรงเพาะเห็ดกี่โรงเรือนครับ
พี่แอ๋ม : ทั้งหมด 7 โรงเรือน

HugHed : ตอนที่ทำฟาร์มเห็ดในช่วงเริ่มแรก ลักษณะของโรงเรือนเป็นแบบไหนครับ
พี่แอ๋ม : เป็นโรงเรือนที่มุงด้วยหญ้าคามาตั้งแต่แรกเลย  ช่วงหลังนี้ไม่ค่อยไหว เคยมีพายุพัดโรงล้มลงอย่างสวยงาม 555


 
HugHed :  โรงเรือนที่ทำจากหญ้าคา เราต้องเปลี่ยนหญ้าคาบ่อยไหมครับ
พี่แอ๋ม : มันจะอยู่ได้ไม่นานนะ ต้องรื้อทุก 2 ปี

HugHed :  โรงเรือนแบบใหม่นี้ พี่แอ๋มออกแบบเองเลยหรือเปล่าครับ
พี่แอ๋ม : ออกแบบเอง โดยใช้เมทัลชีทมุงหลังคา ใช้เพดานเป็นคา และใช้สแลนคลุมรอบๆ มันจะเย็นขึ้น ดัดแปลงไปตามสภาพอากาศ

HugHed :  ด้านข้างโรงเรือน ทำไมต้องใช้กระเบื้องหลังคาวางด้วยครับ
พี่แอ๋ม : อ้อ พอดีพี่มีหลังคากระเบื้องเก่า ก็เลยเก็บมาใช้ ถ้าใช้คามันก็จะไม่ทน


HugHed : โรงเรือนที่มุงด้วยหญ้าคามีข้อดีตรงไหนครับ
พี่แอ๋ม : สามารถเก็บความชื้นและรักษาอุณหภูมิในโรงเรือนให้เย็นได้

HugHed :  พี่แอ๋มมีโครงการที่จะทำโรงเรือนเห็ดหอมเพิ่มหรือเปล่าครับ
พี่แอ๋ม : พอแล้วค่ะ ยังไม่มีโครงการทำโรงเรือนเพิ่มเติมค่ะ

HugHed : พี่แอ๋มเริ่มทำก้อนเชื้อเห็ดหอมช่วงไหนครับ
พี่แอ๋ม : ถ้าทำก้อนเห็ดหอมจะเริ่มทำในช่วงเดือนกรกฏาคม ถึงประมาณเดือนมิถุนายน


 
HugHed :  ที่ฟาร์มนี้ ใช้ขี้เลื่อยจากไม้อะไรในการทำก้อนเชื้อเห็ดครับ
พี่แอ๋ม : ขี้เลื่อยจากไม้ยางพารา

HugHed : สูตรอาหารที่ใช้ผสมในก้อนขี้เลื่อย
พี่แอ๋มใช้สูตรอะไรหรอครับ
พี่แอ๋ม :  สูตรของพี่เป็นสูตรทั่วไป  รำ ยิปซัม แคลเซียม น้ำตาลทรายแดง และภูไมค์

HugHed : สูตรอาหารที่ใช้ทำก้อนเห็ดหอม กับเห็ดนางฟ้า เหมือนกันไหมครับ
พี่แอ๋ม : ไม่เหมือนค่ะ ก้อนเห็ดนางฟ้าจะลดยิปซัม และน้ำตาล ลงนิดหน่อย อย่างอื่นก็เหมือนกัน

HugHed : ในช่วงที่ผสมอาหารกับขี้เลื่อย
พี่แอ๋มใช้อุปกรณ์อะไรในการช่วยผสมครับ
พี่แอ๋ม : ใช้พลั่วในการผสมขี้เลื่อยกับอาหาร ทำกันเองทำไม่เยอะ ค่อยๆทำ ทำเท่าที่ได้  ส่วนการอัดก้อนเห็ดก็จ้างคนงานมาช่วยอัดก้อน

HugHed : ถังที่ใช้นึ่ง นึ่งครั้งหนึ่งได้กี่ก้อนครับ
พี่แอ๋ม : พี่ใช้เตานึ่งลูกทุ่ง ใส่ได้ประมาณ 100 ก้อนต่อหนึ่งถังนึ่ง

HugHed : เวลานึ่งก้อน ใช้เวลาในการนึ่งนานเท่าไรครับ
พี่แอ๋ม :  ใช้เวลานึ่ง 2 ชั่วโมงครึ่ง สำหรับเห็ดหอม นับตั้งแต่มีไอออกจากรูที่ฝาถัง

HugHed :  ที่นี่ทำหัวเชื้อเป็นแบบไหนครับ
พี่แอ๋ม :  เชื้อข้าวฟ่างค่ะ

HugHed : ก้อนเชื้อเห็ดหอมต้องการแสงในช่วงเวลาบ่มก้อนหรือเปล่าครับ
พี่แอ๋ม : ไม่ต้องการแสงในช่วงบ่มก้อน

HugHed : ทำไมเราต้องวางก้อนเห็ดหอมที่จะเปิดดอกบนพื้นดินด้วยครับ
พี่แอ๋ม : ที่วางบนพื้นดินเพราะ บนพื้นดินมีความชื้นอยู่ มันต้องใช้ความชื้นจากดิน บางคนทำบนพื้นซีเมนต์แล้วใช้ทรายรองอีกรอบก็มีนะ 

HugHed :  ในช่วงบ่มก้อนเชื้อเห็ดหอม เจอปัญหาอะไรบ้างครับ
พี่แอ๋ม : เชื้อเห็ดหอมมันจะไม่ค่อยแข็งแรงเหมือนเห็ดนางฟ้า ถ้าเราหยอดเชื้อไปโอกาสปนเปื้อนมันเยอะ ก้อนเชื้อเห็ดหอมมักจะติดเชื้อราเขียว ประมาณ 5% ของก้อนเชื้อทั้งหมด

HugHed :  เราจะเริ่มเห็นราเขียวตอนไหนครับ
พี่แอ๋ม : อาทิตย์แรกของการบ่มก้อนเราก็จะพบราเขียวแล้วค่ะ

HugHed : พี่แอ๋มมีวิธีเปิดดอกยังไงครับ
พี่แอ๋ม : พอหยอดเชื้อเข้าไปเส้นใยเดินเต็ม มันก็จะมีลักษณะเป็นตุ่มเห็ด แล้วมันจะยุบเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ต้องรอให้หน้าก้อนเป็นสีน้ำตาลประมาณ 80% แล้วก็ดึงถุงให้ได้อากาศ สักสองอาทิตย์ ก็กรีดหน้าถุง และกรีดก้นถุงไม่ให้น้ำมันขัง

HugHed :  พี่แอ๋มใช้วิธีอะไรในการกระตุ้นให้เห็ดหอมออกดอกครับ
พี่แอ๋ม : ใช้วิธีเคาะหน้าก้อน โดยใช้รองเท้าแตะติดปลายไม้ แล้วเคาะที่หน้าก้อน  ในช่วงอากาศร้อนบางที่เขาก็เอาน้ำแข็งโป๊ะหน้าก้อน แต่พี่ไม่ทำ มันยุ่งยาก ไม่ค่อยคุ้ม 

HugHed : หลังจากเปิดดอกเห็ดหอมรอบแรก เราสามารถเก็บเห็ดหอมได้อีกกี่รอบครับ
พี่แอ๋ม : ถ้าเราทำก้อนเห็ดครั้งหนึ่ง วางได้แค่รอบเดียวในปีหนึ่ง เพราะมันต้องบ่มไปอีก 4-5 เดือน เปิดได้นานต่ออีก 7-8 เดือน  โดยที่รอบหนึ่งประมาณ 20 วัน ก็กระตุ้นใหม่ กระตุ้นประมาณ 3-4 วัน  มันก็จะทยอยออก ประมาณ 20 วันมันก็หมดรุ่น ก็กระตุ้นใหม่  เอามันเละยุบๆเน่าๆก็จะเก็บก้อนออก

HugHed : เห็ดหอมต้องการแสงในช่วงเปิดดอกหรือเปล่าครับ
พี่แอ๋ม : ต้องการแสงบ้าง แต่ถ้าแสงมีน้อย จะทำให้ขาของเห็ดหอมยาว

HugHed :  มีวิธีสังเกตอย่างไรครับว่าเห็ดหอมสามารถเก็บได้แล้ว
พี่แอ๋ม : ให้ลองเอามือจับที่ใต้กลีบดอกเห็ด จะเจอเป็นร่อง แสดงว่าสามารถเก็บได้แล้ว

HugHed :  ในช่วงหน้าร้อน  พี่แอ๋มต้องพักโรงเรือนเลยไหมครับ
พี่แอ๋ม : พี่ไม่ได้พักโรง จะกระตุ้นตามรอบของการออกดอกปกติ แม้ว่าดอกเห็ดไม่ออกก็ไม่เป็นไร


HugHed :  เจอปัญหาเรื่องแมลงบ้างไหมครับ
พี่แอ๋ม : เห็ดหอมมันจะมีกลิ่นในตัวมันเอง แมลงไม่ค่อยมี จะมีหอยทาก มันจะกินดอกแต่ไม่มาก ไม่ค่อยมีปัญหา แต่ต้องราดยากันปลวกที่พื้น ก่อนเอาก้อนลง เพราะปลวกมันจะมากินก้อน

HugHed :  ถ้าก้อนเห็ดหอมขึ้นหน้าน้ำตาล มักจะไม่ค่อยเจอปัญหาอะไรแล้วใช่ไหมครับ
พี่แอ๋ม : ใช่แล้ว ห่วงแค่ช่วงบ่มก้อนก็พอ เพราะช่วงบ่มก้อน เชื้อเห็ดหอมมันยังไม่แข็งแรง

HugHed :   หลังจากที่เปิดหน้าก้อน ก้อนมันจะยังมีโอกาสเสียอยู่ไหมครับ
พี่แอ๋ม : ยังมีโอกาสเสียอยู่บ้าง ถ้าก้อนมันไม่สมบูรณ์ อาจจะมีราอื่นเกิดขึ้นได้


HugHed : ก้อนเห็ดที่เปิดดอกครบรอบหมดแล้ว พี่แอ๋มเอาไปทำอะไรต่อครับ
พี่แอ๋ม : พี่เอาไปทำปุ๋ย

HugHed :  พี่แอ๋มรดน้ำกระตุ้นเห็ดหอมอย่างไรครับ
พี่แอ๋ม : สามวันแรกที่กระตุ้น ต้องรดน้ำ 3-4 ครั้งต่อหนึ่งวัน

HugHed : พี่แอ๋มมีวิธีให้น้ำเห็ดหอมอย่างไรครับ
พี่แอ๋ม : พี่ใช้สายยางฉีดน้ำให้เห็ดหอม โดยที่พี่จะรดทีละแถวที่พี่ต้องการกระตุ้นให้เห็ดหอมออก

HugHed :  เราตัดสินใจอย่างไรว่าต้องรดน้ำกี่รอบครับ
พี่แอ๋ม : ดูที่หน้าน้ำตาลของก้อนเห็ด ถ้าหน้าน้ำตาลแห้ง ต้องทำการรดน้ำให้เปียกตลอดเวลา ในช่วงสามวันที่ทำการกระตุ้นเห็ด

HugHed :  น้ำที่ใช้ในการรดน้ำเห็ด มาจากแหล่งไหนครับ
พี่แอ๋ม : ใช้น้ำบาดาล

HugHed :  ครั้งแรกที่ทำโรงเห็ด เราหาตลาดยังไงครับ
พี่แอ๋ม : ในช่วงแรกฝากเห็ดหอมขายที่ตลาดใกล้บ้าน ต่อมามีแม่ค้าจากตลาดเมืองใหม่มารับเห็ดหอมที่ฟาร์มไปขาย

HugHed :  มีแม่ค้ามารับเห็ดที่ฟาร์มกี่เจ้าครับ
พี่แอ๋ม : มีแม่ค้ามารับเห็ดที่ฟาร์มสองเจ้า

HugHed :  ช่วงนี้ได้ผลผลิตกี่กิโลกรัมต่อวันครับ
พี่แอ๋ม : ประมาณ 20 กิโลต่อวัน

HugHed :  ถ้าเปรียบเทียบกันระหว่างเห็ดหอมพันธุ์ดอกเล็กกับเห็ดหอมพันธุ์สีอง เห็ดหอมชนิดไหนให้ผลผลิตดีกว่ากันครับ
พี่แอ๋ม : พันธุ์สีทองผลผลิตจะออกได้ช้ากว่าพันธุ์ดอกเล็ก



HugHed :  ราคาเห็ดหอมระหว่างเห็ดหอมพันธุ์ดอกเล็กกับเห็ดหอมพันธุ์สีทอง ราคาเท่ากันหรือเปล่าครับ
พี่แอ๋ม : ราคาขายเท่ากัน ราคาที่หน้าฟาร์ม กิโลกรัมละ 170 บาท

HugHed :  ก้านดอกที่เราตัดออก เราเอาไปขายต่อได้ไหมครับ
พี่แอ๋ม : ไปขายได้ กิโลกรัมละ 20 บาท

HugHed :  ก้อนเห็ดหอมที่มีหน้าน้ำตาล
พี่แอ๋มขายก้อนละกี่บาทครับ 
พี่แอ๋ม : ก้อนเห็ดที่มีหน้าน้ำตาลแล้ว ขายก้อนละ 15 บาท

HugHed :  พี่แอ๋มรู้สึกอย่างไรที่ลาออกจากงานประจำมาทำฟาร์มเห็ดครับ
พี่แอ๋ม :  พี่รู้สึกดีใจนะที่ออกมาทำฟาร์มเห็ด ช่วงแรกอาจจะรู้สึกว่าลำบาก ไม่ได้แต่งตัวสวยๆทำงานในออฟฟิตเย็นๆ แต่วันนี้ พี่ดีใจมากที่ออกมาทำฟาร์มเห็ด ไม่เครียดไม่มีอะไรให้กดดัน ได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติอีกด้วย ^_^

    ดูจากบทสัมภาษณ์สุดท้าย พี่แอ๋มตอบพวกเราด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม และดูมีความสุขมาก ๆ เลยครับ อย่างน้อยเราก็สามารถเลือกที่จะทำในสิ่งที่เราอยากทำ ทำเพราะความชอบ และความสบายใจ มากกว่าการที่ต้องทำในสิ่งที่เราไม่ชอบ ผลลัพธ์ที่ได้มันคือความสุขของเราครับ พวกเราต้องขอขอบคุณพี่แอ๋ม เจ้าของปรีชาฟาร์ม 99 แห่งนี้ครับ ที่ได้เสียสละเวลามาให้ความรู้ แก่พวกเราในวันนี้ครับ ขอบคุณมากครับ ^___^

ติดตามปรีชาฟาร์มต่อได้ที่
https://www.facebook.com/PrichaFarm99Prichafarm99
 

2 ความคิดเห็น:

  1. ทำเห็ดหอมเหมือนกันค่ะตอนนี้ออกดอกรุ่นที่1อยู่ค่ะ ยังไงจะเข้าไปขอความรู้เพิ่มเติมที่สวนนะค่ะ^^

    ตอบลบ
  2. อยากได้หัวเชื้อเห็ดหอม ส่งให้ทางแม่สายได้ไหมครับ

    ตอบลบ

พบกับพวกเราบน facebook